แง้มประตู ‘ห้องซ้อมดนตรี Music Group’ บ้านหลังที่สองของนักดนตรีอิสระ

2408

ห้องซ้อมดนตรี Music Group ดินแดง ถ้าพูดถึงเบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินในสมัยนี้ หลาย ๆ คนคงนึกไปถึงการทำ digital marketing, online content หรือการที่วงดนตรีเชื่อมต่อกับแฟนเพลงได้ใกล้ชิดมากขึ้นผ่าน social media

แต่คุณมองข้ามช็อตไปนิดนึง เพราะกว่าที่พวกเขาจะปลุกปั้นเพลงออกมาให้เรา ๆ ได้ฟังกัน พวกเขาต้องผ่าน ‘ห้องซ้อมดนตรี‘ กันมาก่อนทั้งนั้น! (เว้นแต่ว่าหล่อนเป็นศิลปินที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำเพลงอะนะ) คือไม่ถึงขั้นเดบิวต์เป็นวงดนตรี ชีวิตวัยรุ่นของหลายคนก็น่าจะเคยไปซ้อมเพื่อเล่นงานโรงเรียนหรือมหาลัยกันมาบ้าง จุดนี้เองที่ทำให้เราเชื่อว่า ห้องซ้อมดนตรีเป็นมากกว่าส่วนสำคัญในการเติบโตของวงดนตรี เพราะมันเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ รอยยิ้ม และคราบน้ำตา (เออ มันต้องมีวงที่ตบตีกันในห้องซ้อมเป็นเรื่องธรรมดา)

ในกรุงเทพ ฯ มีห้องซ้อมดนตรีอยู่หลายที่ ตั้งแต่ย่านกลางเมือง ชานเมือง ใกล้สถานศึกษา มีทั้งที่เกิดใหม่ ตั้งอยู่มานาน และดับไป เป็นเรื่องปกติ แต่มีอยู่ที่หนึ่งที่เพื่อน ๆ ศิลปินอิสระใกล้ตัวเราจะรู้สึกใกล้ชิดและมีความผูกพันเป็นพิเศษ คือ ‘ห้องพี่ติ’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘ห้องซ้อมดนตรี Music Group‘ ที่ซ่อนตัวอยู่ในเวิ้งเล็ก ๆ ของแฟลต 8 ชั้น ดินแดงมาเป็นเวลากว่า 30 ปี!

แต่ที่แห่งนี้ไม่เคยเงียบงัน เพราะทั้งศิลปินรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก เด็กหน้าใหม่ คนมีฝัน คนหาเช้ากินค่ำ ต่างตบเท้าเข้ามาฝึกฝนวิชาอย่างไม่ขาดสาย แต่อะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเลือกมาที่ห้องซ้อมของ พี่ติ—สันติ ปัญจขันธ์ และ พี่นา—กันตา แซ่ตั้ง จนกลายเป็นบรรยากาศอันอบอุ่นอย่างที่พวกเราเห็นในทุกวันนี้

ห้องซ้อมดนตรี Music Group ที่ซ่อนตัวอยู่ในแฟลตดินแดง มานานกว่า 30 ปี

เปิดห้องซ้อมดนตรีกันมานานหรือยัง

ติ: 30 กว่าปีแล้วอยู่ตรงนี้มาตลอด

นา: มีบ้านอยู่แถว ๆ นี้ รัชดาซอย 3 ก็ไป ๆ มา ๆ

ใช้ชื่อ ห้องซ้อมดนตรี Music Group มาแต่แรกเลยหรอ

ติ: ใช่ ชื่อนี้มาแต่เดิมเลย

ก่อนหน้านี้ทำอะไรกันมาก่อน

นา: เราเป็นเด็กที่ซ้อมที่นี่มาก่อน (หัวเราะ)

ติ: เมื่อก่อนเราเล่นดนตรี เล่นกลางคืน เล่นร้านด้วย แล้วก็เป็นนักดนตรีให้แกรมมี่ คีตา สมัยก่อน อันนี้ที่เก่าเป็นของวงชาตรี เราก็มาซ้อมที่นี่ แล้วพอดีพี่นราธิป กาญจนวัฒน์ เขาจะบวช จะให้เซ้งต่อ เราก็ไปบอกพ่อให้พ่อมาซื้อที่นี่ให้ ตอนนั้นเราอายุ 21 เอง เซ้งไปล้านหก ช่วงแรกเราไม่ได้ดูร้านเอง ให้เด็กมาดู เพิ่งจะมาดูเมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง

นา: เราก็ชอบดนตรีกันตั้งแต่แรก พี่ติเล่นกีตาร์ พี่นาก็ร้องเพลง เล่นกลางคืน ร้องคอรัสนิดหน่อย ก็ทำแค่นั้นแล้วมาเปิดห้องซ้อมเลย พอหลังจากมาอยู่ห้องซ้อมก็เลิกร้องไปเลย เพราะมาอยู่ตรงนี้แล้วก็ไม่ต้องไปร้องแล้ว เหนื่อย

บรรยากาศห้องซ้อมดนตรี Music Group ดินแดง

คนที่มาซ้อมส่วนมากเป็นกลุ่มไหน

ติ: ยุคแรกก็ศิลปินเก่า ๆ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง พี่เบิร์ด ธงไชย แล้วก็มีพวกต้อม เรนโบว์ หิน เหล็ก ไฟ จริง ๆ ที่มาที่นี่กันเพราะสมัยก่อนไม่มีห้องซ้อม บิลลี่ ออแกน คริสติน่า อากีล่าร์ ใหม่ เจริญปุระ เขาก็มา (นา: เขาอาจจะสานต่อมาจากพี่นราธิป) แต่หลัง ๆ พวกค่ายชอบมาวางบิล ต้องรอเอาบิลไปเบิกบริษัท เราก็ปฏิเสธไป อย่าง Paradox น่าจะรุ่นสุดท้าย เราก็บอกว่า ‘เฮ้ย จ่ายมาก่อนแล้วไปเบิกบริษัทเอง’ (หัวเราะ)

ส่วนคนที่มาช่วง 10 ปีที่เราดูเอง ส่วนมากก็เป็นพวกบอกปากต่อปากแล้ว ก็มีนักเรียน วงดนตรีบอกต่อ ๆ กัน ถ้าวงอินดี้ช่วงแรก ๆ ก็ Mattnimare น่ะ แล้วตอนนั้นเขาพาเพื่อนมาซ้อม ตอนนี้เขาไปเปิดห้องซ้อมของเขาเองละ (หัวเราะ) แล้วก็มี Jelly Rocket กับพวกเติ้ล (The Whitest Crow, S.O.L.E.)

เวลาเจอคนไม่มีประสบการณ์มาซ้อม พี่ ๆ ช่วยยังไงบ้าง

นา: พี่นาจะเป็นคนคอย entertain ให้ พี่เข้ากับเด็ก ๆ ง่ายอยู่แล้ว เด็ก ๆ ที่เพิ่งมาซ้อมพี่นาจะคอยบอกเขา แต่ก็มีพวกที่ซนหน่อย ปวดหัวบ้างก็มีเหมือนกัน

ติ: ถ้าทำอะไรไม่เป็นเราจะบอกเขาว่าห้ามปรับอะไรนะ โดยเฉพาะไมค์ เดี๋ยวพอไปหมุนปุ๊บ แหลมขาดเลยก็มี คนที่เป็นงานก็ปล่อยเขา

ห้องซ้อมดนตรี Music Group ต่างจากที่อื่นยังไง จากที่เพื่อน ๆ ศิลปินบอกกันมาคือ ที่นี่เข้าใจศิลปิน อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ก็มีพร้อม คุณภาพดี

ติ: บางที่เขาอาจจะปล่อยปละละเลย

นา: ตอนเด็ก ๆ เราซ้อมที่อื่นมาเยอะ พอเห็นตรงไหนที่เราไม่ชอบ เราก็จะไม่ทำที่นี่

การเลือกอุปกรณ์และเครื่องดนตรีของที่นี่

ติ: ดูจากผู้ใช้เป็นหลัก สมมติคนใช้ชอบแบบนี้อยู่แล้ว พอเปลี่ยนมาเป็นอีกยี่ห้อคนก็ไม่ชอบ เราซื้อมาก็ต้องขายไป (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ตู้แอมป์ก็ Fender, Orange แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครใช้ตู้แอมป์แล้ว เสียบเข้ามิกซ์เลย ก็เปลี่ยนไปตามยุค

 

สำหรับเราเองที่เป็นผู้ใช้บริการมาตั้งแต่ปี 2015 ก็พอเคาะได้ว่า เสน่ห์อีกอย่างนอกจากความขลังและพร้อมของอุปกรณ์ คือ บริการทุกระดับประทับใจของพี่นา ตั้งแต่สั่งข้าวให้ ใครเอารถมาจอดก็จัดการเรื่องค่าที่จอดรถให้ หรือบางทีนักร้องเจ็บคอ ยังเอาน้ำร้อนมาให้! ถ้าเป็นที่อื่นคงไม่ทำให้ขนาดนี้

ติ: ห้องซ้อม 2nd Studio BKK ของแอ๊ป Mattnimare ก็มีนะ (หัวเราะ)

นา: อาจจะเป็นเพราะพี่เป็นผู้หญิง เป็นแม่คนแล้ว ก็รู้สึกว่าทุกคนเป็นเหมือนน้อง เหมือนลูก ก็อยากทำให้ ทำเป็นนิสัยไปแล้ว

เป้าหมายจากการเปิดห้องซ้อมตอนแรก มาจนถึงตอนนี้ เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

ติ: ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เปิดไปเรื่อย ๆ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย กะอะไรไม่ได้ เราก็อยู่ของเราไปเรื่อยแบบเนี้ย (หัวเราะ)

หลายคนที่มาซ้อม อยู่ดี ๆ กลายเป็นวงดัง รู้สึกยังไงบ้าง

นา: ก็ดีใจมาก ๆ ที่เขาประสบความสำเร็จ กลับมาคุยกันก็รู้สึกว่าไม่น่าเชื่อเนอะ

ติ: พวกกิต Three Man Down เราก็เพิ่งรู้ว่าเพลงเขาดัง มีคนเอาเพลงเขามาซ้อมเล่นก็เยอะ

เขากลับมาซ้อมกันบ้างไหม

ติ: ก็มีบ้างที่กลับมาซ้อม แต่เดี๋ยวนี้มีห้องซ้อมเยอะ ก็แบ่ง ๆ กระจายกันไปซ้อม

นา: สะดวกที่ไหนก็ไปตรงนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องกลับมาหาเราตลอดหรอก เพราะห้องซ้อมดนตรีมันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในหลาย ๆ ที่ ถ้าเขาย้ายบ้านไปตรงนั้น ที่ทำงานอยู่แถวนั้น เวลานั้นสะดวกตรงนั้น ก็ไปซ้อมตรงนั้นก็ได้

ไม่หวงลูกค้า?

ติ: เหมือนจะให้เรากินข้าวกะเพราทุกวันมันก็ไม่ได้ ก็ต้องวน ๆ ไป คนเขาต้องทำมาหากินเหมือนกัน

นา: พี่อยู่มา 30 กว่าปี มันก็วน ๆ เก่าไป ใหม่มาอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว

 

ความสนุกและอบอุ่นมาก ๆ อีกอย่างหนึ่งของ ห้องซ้อมดนตรี Music Group คือการที่หลังซ้อมเสร็จ พี่ติจะบุกเข้ามาในห้องพร้อมขอทุกวงถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แต่ยิ่งไปกว่าการที่ทุกวงให้ความร่วมมือ คือบางวงถึงขั้นเอา prop มาเป็นอุปกรณ์ประกอบการถ่ายภาพ บางทีก็มีท่าโพสสุดพิสดารแบบที่ต้องให้ปังกว่าวงที่ถ่ายไปแล้ว เรียกว่าขับเคี่ยวกันจนเกิดเป็นห้องพี่ติ challenge กันเลย

นา: กลัวเขารำคาญเหมือนกัน ไปขอถ่ายบ่อย ๆ (หัวเราะ)

ติ: จริง ๆ ทีแรกเราเห็น Strings Shop เขาถ่ายรูปลูกค้า เราก็อยากถ่ายบ้าง (หัวเราะ) แต่ถ่ายไปถ่ายมาก็เริ่มขี้เกียจแล้วนะ (หัวเราะ) ก็ให้พี่นาไปถ่ายให้

นา: ตอนแรกก็ถ่ายเล่น ๆ แหละ แต่หลัง ๆ มาก็คิดว่าอยากถ่ายเก็บไว้ เพราะทุกคนจะไม่ย้อนกลับมาเด็กแล้ว มันก็จะเป็นความทรงจำช่วงนั้น ๆ ของเราที่พวกเพจเฟซบุ๊กมันจะเก็บไว้ให้เราได้

ใครเป็นคนเริ่ม challenge ถ่ายรูปท่าพิสดาร

ติ: S.O.L.E. เลย แล้วหลังจากนั้นก็ Three Man Down บางทีก็เอาอุปกรณ์มาด้วย สองวงนี้เขาไม่ยอมกัน แล้วก็มี temp.

นา: เดี๋ยวก็มีแหย่กันเอง แซวกันเอง พี่ไม่รู้เรื่อง ดูน้องมันเล่นกันก็ขำไปด้วย

แล้วมีคนขอถ่ายรูปกับพี่ติพี่นาบ้างไหม

นา: อายุเยอะแล้วไม่สวย เขิน ไม่รู้จะทำหน้ายังไง ไม่เหมือนตอนวัยรุ่นแล้ว

นอกจากรูปแล้ว แคปชันก็เด็ดไม่แพ้กัน ไอเดียในการตั้งชื่อภาพมาจากไหน

นา: ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเข้ากับภาพ (หัวเราะ) แต่บางทีพอดูภาพแล้วมาอ่าน มันก็พอไปด้วยกันได้ พี่ติเป็นคนคิด ถ้าพี่นาคิดเองก็คงเป็นแค่ ‘ขอบคุณที่มาใช้บริการ’ เหมือน ๆ คนอื่น

ติ: ส่วนมากถ้าเขียน ‘ขอบคุณครับ’ มันจะซ้ำใช่ไหม เราก็เลยเขียนเรื่อยเปื่อยดีกว่า

 

เป็นแฟนคลับวงที่มาซ้อมบ้างไหม

นา: ก็ไม่มีเป็นพิเศษนะ รักน้อง ๆ กันหมดเนี่ยแหละ

ติ: เมื่อก่อนฟังแนว ๆ เดี๋ยวนี้ฟังอะไรก็ได้แล้ว ไม่ค่อยหาเพลงใหม่ ๆ ฟังแล้ว

นา: ไม่ใช่ไม่ค่อย เราฟังทุกวัน จากคนที่มาซ้อมเนี่ยแหละ (หัวเราะ) ก็ด้วยวัยด้วย ตอนนี้พี่ขออะไรนุ่ม ๆ พอ

ปกติพอกลับเข้าบ้านก็จะทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพลงเลย เพราะฟังทั้งวันมาแล้วจริง ๆ แต่เพลงใหม่ ๆ บางทีก็รู้จักจากที่น้อง ๆ มาซ้อมกันเนี่ยแหละ บางทีคนที่เขามา เรายังไม่รู้เลยว่าคนนี้เป็นศิลปิน ต้องให้ลูกสาวมาบอก พอดีลูกสาวฟัง เขาก็จะวิ่งมา ‘แม่! พี่คนนี้อยู่วงนี้ ๆๆๆ’ แล้วเขาจะเอา YouTube ของพี่ ๆ วงนี้มาเปิดให้ฟัง

เห็นว่าพี่ติ พี่นา ซื้อเสื้อวงที่มาซ้อมด้วย

ติ: เราก็อยากซัพพอร์ตน้อง ๆ บางทีไปซื้อเขา น้องก็จะบอกว่า ‘พี่เอาไปเลย’ ปกติเขาก็ขายหมดอยู่แล้ว แต่เราก็อยากช่วยกัน เก็บเป็นที่ระลึก บางทีไม่ได้ไปซื้อที่งานแต่เห็นเขาถือมาห้องซ้อมด้วย ก็ซื้อเลย

นา: อย่างลูกพี่ก็จะบอกให้ไปซื้อเสื้อพี่คนนั้น เขามาซ้อมที่เรา พี่ก็ช่วยแหลกเลย (หัวเราะ) ซื้อทีสองตัว ปกติก็แต่งตัวแบบนี้อยู่แล้ว วันก่อนใส่เสื้อ Zweed N’ Roll ไปตัดผม ช่างตัดผมตัดไปตัดมาก็ทัก ‘โหพี่ผมแฟนคลับวงนี้เลย’ แต่เขาไม่รู้ว่าเราอยู่ห้องซ้อม เราก็บอก เออเพลงเขาเพราะดีเนาะ

การอยู่ตรงนี้ก็เหมือน community ย่อย ๆ ก็น่าจะได้เห็นภาพรวมของวงการดนตรี พี่ ๆ มีความคิดเห็นยังไงบ้าง

ติ: เพลงมันไม่แน่นอนนะว่าคนจะชอบยังไง มันเปลี่ยนไปเยอะ แล้วแต่ดวงด้วยว่าทำออกมาแล้วจะดังหรือไม่ดัง แล้วแต่จังหวะ

นา: มันมีโรคระบาดอะไรด้วย คาดเดาไม่ได้ บ้านเมืองไม่ค่อยดี เด็กก็ไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนเพลง

ติ: แต่ก็ยังดีมีงาน Cat Expo ถ้าไม่มีวงน้อง ๆ ก็คงไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไรเหมือนกัน

กีตาร์ของห้องซ้อมดนตรี Music Group

เคยคิดอยากทำวง ออกเทปบ้างไหม

ติ: ไม่เคยนะ ใจเราแค่คิดว่าอยากแบ็คอัพ อยากเล่นกลางคืน แค่นั้นเอง

นา: พี่ก็ไม่เคย แค่อยากร้องเพลงสนุก ๆ แล้วได้ตังค์ ก็พอแล้ว

สุดท้ายนี้ อยากฝากอะไถึงคนอ่าน

ติ: ห้องซ้อมสะดวกไหน ก็ไปที่นั่นแหละ! (หัวเราะ)

ห้องซ้อมดนตรี Music Group Facebook
2508/197 อาคาร ดินแดง 2 ซอย หมอเหล็ง ถนนดินแดง แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพ ฯ 10400 
เปิดทุกวัน บ่ายโมงถึง 5 ทุ่ม
โทรจองคิวได้ที่ 089 681 8157

ห้องซ้อมดนตรี Music Group อยู่ที่ไหน

ห้องซ้อมดนตรี Music Group อยู่ที่แฟลตดินแดง 2508/197 อาคาร ดินแดง 2 ซอย หมอเหล็ง ถนนดินแดง แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพ ฯ 10400 มีเจ้าของคือ พี่ติ — สันติ ปัญจขันธ์ และ พี่นา — กันตา แซ่ตั้ง

จองห้องซ้อมดนตรี Music Group ยังไง

โทรจองคิวได้ที่ 089 681 8157 เปิดทุกวัน บ่ายโมงถึง 5 ทุ่ม

บทความที่คุณอาจจะสนใจ

เพลงไทยน่าเบื่อ! หรือ Music Journalist ไทยกำลังจะสูญพันธุ์

เราอยากให้นักดนตรีมีอิสรภาพมากกว่านี้ ตูน t_047 หลังจากขึ้นเวที Cat Expo

 

About the author

อิ๊ก พนักงานประจำที่เขียนบทความดนตรีในเวลาว่าง หรือถ้าไม่ว่างก็สันนิษฐานได้ว่าจะพบเธอที่คอนเสิร์ตหรือปาร์ตี้