เพลงไทยน่าเบื่อ! หรือ Music Journalist ไทยกำลังจะสูญพันธุ์

1984

“เพลงไทยน่าเบื่อ” มักเป็นประโยคที่คนบนโซเชียลมีเดียบ่นกันเมื่อพูดถึงเพลงที่พวกเขาฟัง โดยที่ยกตัวอย่างศิลปินป็อปชื่อดังขึ้นมากล่าวโทษ ว่านี่คือเหตุผลที่คนเหล่านี้มักหันไปฟังเพลงต่างประเทศกันมากกว่า ในฐานะคนฟังเพลงเหมือนกันก็แอบปวดใจที่เห็นพวกเขาเหมารวมซีนดนตรีไทยทั้งหมดว่าน่าเบื่อ จากศิลปินไม่กี่คนที่มีเงินมีโอกาสได้โปรโมตมากกว่าศิลปินอีกหลายพันคนที่ก็มีเพลงที่น่าสนใจเหมือนกัน แต่ในเมื่อพวกเขาไม่รู้จักจะมีกี่คนที่จะไปเสิร์ชเจอเพลงดี ๆ ของศิลปินอีกมากมายกันเล่า

เพลงไทยน่าเบื่อ จริงหรือ?

ถ้าได้ลองไปค้นหา trending ในหัวข้อเพลง บนสตรีมมิ่งขวัญใจคนไทยอย่าง Youtube (ซึ่งฟรีและมีอัลกอริทึมที่จะแนะนำเพลงที่ถูกฟังเยอะ ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งในทุกคนฟังก่อนเสมอ) เราจะพบศิลปินหน้าเดิม ๆ ที่เวียนกันโผล่มาพร้อมกับเพลงแนวเดิม ๆ ที่ทำออกมาซ้ำ ๆ 4-5 เพลงเพราะขายได้กับรูป cover อวดยอดวิวที่ไม่ได้สะท้อนอะไรเลยนอกจากดูน่าขัน หลายคนมีกำลังทรัพย์หรือต้นทุนทางรสนิยมหน่อยก็ฟังเพลงผ่าน Spotify หรือ Apple Music ก็ทำให้เข้าถึงเพลงได้เยอะขึ้นแต่เชื่อผมเถอะว่ายังมีศิลปินอีกมากมายที่ตกหล่น ไม่ได้ถูกแพลตฟอร์มเหล่านี้พูดถึงเลยและพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าจะพาตัวเองไปเจอคนฟัง เจอคนที่จะชอบเพลงพวกเขาได้ยังไง

เริ่มเห็นความสำคัญของ Music Journalist หรือยัง

หลายคนเข้าใจว่า Music Journalist หรือนักข่าวสายดนตรี ก็เหมือนนักข่าวทั่วไปที่รายงานเกี่ยวกับดนตรีไม่ใช่เหรอแต่นักข่าวสายดนตรีเนี่ย (ทำนิ้ว air quote) แรกเริ่มเดิมทีในศตวรรษที่ 18 พวกเขามีหน้าที่วิจารณ์เพลงคลาสสิกอย่างถึงพริกถึงขิง ในเชิงทฤษฎีดนตรีเข้มข้นทั้งการเรียบเรียง คัดเลือกสกอร์เพลง และ การออกแบบโชว์ด้วยความที่จะเป็นนักวิจารณ์ดนตรีได้ ต้องแตกฉานในทฤษฎีมาก ๆ ก็จะมีแต่ลูกท่านหลานเธอเท่านั้นที่มีสิทธิ์ แต่เมื่อมนุษย์เริ่มเข้าถึงการศึกษามากขึ้น พร้อมการเข้ามาของศิลปะแบบโรแมนติก ที่ผ่อนคลายกฎเกณฑ์คลาสสิกอันเคร่งครัด เปิดทางให้อารมณ์เสรี ทำให้ใคร ๆ ก็เป็นนักวิจารณ์ได้ จนถึงยุค 1990s ที่วงการดนตรีก้าวหน้าอย่างสุดขีด นิตรสารดนตรีและนักวิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย แม้แต่วงอย่าง The Beatles กลายเป็นตำนาน ก็เเพราะนักวิจารณ์เขียนถึงพวกเขาตลอดเวลาเนี่ยแหละ

บ้านเราก็เคยมีนิตยสารดนตรีดี ๆ อย่าง POP ที่แม้ภาษาจะแอบแซ่บ จิกกัดเหมือนเพื่อนขี้เม้า แต่ต้องยอมรับว่าบทวิจารณ์ก็คลี่คลาย และเข้าถึงเพลงต่าง ๆ ได้อย่างมีกึ๋น ซึ่งก็เป็นหมุดหมายสำคัญให้คนดนตรีมากมายในยุคก่อนหน้านี้พร้อมด้วยช่อง Channel V กับ MTV ที่เปิดโลกการฟังเพลงต่างประเทศให้ใครหลายคน แม้แต่ซีนดนตรีในประเทศไทยเองก็มีศิลปินคุณภาพมากมาย ที่รายการทีวี และ คลื่นวิทยุทุกแห่งแข่งขันกันป้อนเพลงต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้คนฟังทุกวัน

แต่ทำไมบรรยากาศแบบนั้นมันหายไปแล้ว ในสมัยนี้รายการเพลงบนทีวีก็น้อยเต็มที คลื่นวิทยุก็ล้มหายตายจากไปกันหมด อาจจะจริงที่ตอนนี้คือยุคของสตรีมมิ่ง ทุกคนสามารถเข้าถึงเพลงได้พร้อมกันทั่วโลก อยากฟังอะไรก็ฟังได้ทันทีผ่านมือถือไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาแนะนำอีกแล้ว

MusicJournalist เลยไม่จำเป็นแล้วหรือ?

James Shotwell เจ้าของพอดแคสต์ชื่อดัง Inside Music ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีมานาน ควบดีกรีระดับนักเขียน Rolling Stone, Alternative Press และอีกหลายหัว ได้เขียนบทความเรื่อง Why We Need More (Quality) Music Journalism ทำไมเราถึงต้องการนักเขียนสายดนตรี(ที่มีคุณภาพ)มากกว่านี้ ซึ่งเขาบอกเลยว่า นี่คือยุคที่นักข่าวสายดนตรี มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีเลย

นี่คือยุคที่ใครก็เป็นศิลปินได้ ทุกคนสร้างสรรค์และปล่อยงานกันทุกวัน ใครซักคนต้องคอยแนะนำฟังและแยกแยะงานที่ดีกับงานที่ห่วยให้กับคนฟัง แนะนำติชมศิลปินอย่างจริงจัง คอยเป็นกระบอกเสียงให้ศิลปินทุกคน

แต่นักข่าวสายดนตรี หรือ นักวิจารณ์ กลับถูกลดทอนความสำคัญโดยโซเชียลมีเดีย มีเพจหรือบล็อกคอยอัพเดตข่าวอย่างรวดเร็ว คนฟังเพลงคิดว่าตอนนี้พวกเขาได้ใกล้ชิดศิลปินเพียงแค่หน้าจอมือถือกัน ติดตามชีวิตความคิดรสนิยมเรื่องราวพวกเขาได้ทุกช่องทางที่ศิลปินจะมีได้ แถมได้ชมโชว์ของพวกเขาสด ๆ ได้ทันทีผ่านระบบออนไลน์ตามที่พวกเขาต้องการ เราไม่เถียงแล้วก็อยากขอบคุณที่อินเทอร์เน็ตทำให้แฟนคลับใกล้ชิดกับศิลปินมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ก็มีศิลปินเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถทำแบบนี้ได้

แล้วศิลปินที่ไม่ดังล่ะ?

ถ้าเขาไม่สามารถเล่นดนตรีแล้วมีรายได้ทุกวันเหมือนศิลปินคนอื่น แถมยังต้องทำงานหลักควบไปด้วย เพื่อไม่ให้ตัวเองอดตาย ไม่มีโอกาสได้โชว์ทุกวัน ไม่มีโอกาสได้ทำเพลงและค้นหาแนวทางใหม่ ๆ ให้ดนตรีตัวเองได้ล่ะ?

นอกจากนี้การวิจารณ์ยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้อุตสาหกรรมดนตรีเดินไปข้างหน้าได้จากการแสดงความคิดเห็น หรือเสนออะไรที่อาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับศิลปิน นักข่าวสายดนตรีพวกนี้แหละคือคนที่ขัดเกลา pop culture ให้น่าสนใจอยู่เสมอ การทำตามกระแสจะไม่อยู่รอดตลอดไป

แต่ในความเป็นจริงแล้วศิลปินก็ต้องกินต้องใช้ หลายคนก็เลือกที่จะทำเพื่อตัวเองไม่มีใครอยากอดตายจากการทำสิ่งที่พวกเขารักหรอก และ ระบบนิเวศในซีนดนตรีของเราก็ทรุดโทรมมานาน ด้วยหลาย ๆ เหตุผลทั้งวัฒนธรรมการไปคอนเสิร์ตที่คาดเดาไม่ค่อยได้ มีศิลปินอยู่ไม่กี่คนที่ผู้ฟังจะยอมจ่ายเพื่อไปดูโชว์ ผู้ฟังก็ดูไม่อยากรู้จักวงใหม่ ๆ ที่จะทำให้พวกเขาตื่นเต้นอีกต่อไปทำให้เหล่า ‘นักข่าวสายดนตรี‘  ก็ต้องรับใช้นายทุน หรือ ค่ายเพลงอีกทีหนึ่งเพื่อยังชีพด้วยเหมือนกันแม้เราจะรู้อยู่เต็มอกว่าพวกเขากำลังเอาเปรียบศิลปินที่เรารักก็ตาม

แถมบ้านเรามีปัญหาเรื่องความพินอบพิเทา ไม่กล้าวิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาติดเรื่องความอาวุโส ไม่กล้าวิจารณ์คนที่แก่กว่า หรือคนที่อยู่ในวงการมานาน ไม่มีพื้นที่ให้ถกเถียงกันถึงเรื่องดนตรีว่ามันควรจะไปไกลกว่านี้ได้แล้วรึเปล่าเทรนด์โลกตอนนี้คืออะไร แล้วพวกพี่ทำอะไรกันอยู่ทำไมไม่มีศิลปินไทยในเวทีโลกเลย ซึ่งกรรมทั้งหมดก็ไปตกที่คนฟังก็ต้องฟังอะไรเดิม ๆ ต่อไปแล้วมานั่งบ่นว่าเพลงไทยน่าเบื่อ

ถึงยุคนี้ใครจะเป็นนักวิจารณ์ก็ได้แถมมีเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับดนตรีเต็มไปหมด แต่จะมีซักกี่คนที่ตั้งใจผลักดันซีนดนตรีจริง ๆ เสนออะไรใหม่ ๆ ให้คนลองเปิดใจฟังอะไรใหม่ ๆ แนะนำศิลปินหน้าใหม่ ที่มีแนวทางดนตรีแตกต่างเพื่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น และ ถ้าเราช่วยกันดันให้ศิลปินไปถึงต่างประเทศได้ ก็จะเกิดการจ้างงานที่มากขึ้นตามไปด้วยไม่ต้องง้อโปรโมเตอร์ไม่กี่เจ้าในไทยซึ่งบางที่ก็กดเงินศิลปินจนเราโมโหแทน

คนฟังสตรีมมิ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวันถ้าบ้านเรามี Music Journalist เยอะ ๆ และแนะนำเพลงให้หลากหลายกว่านี้ มีพื้นที่ให้ศิลปินทุกแนวมากขึ้น ตลาดก็อาจจะโตขึ้นเยอะมากคนฟังก็มีทางเลือกมากขึ้น ผู้จัดก็จัดงานได้หลากหลายขึ้นศิลปินดัง ๆ ก็ไม่เหนื่อยเกินไป แถมเปิดโอกาสให้ศิลปินใหม่ ๆ ได้โชว์และมีเงินมาเลี้ยงตัวเองได้ จนไม่ต้องควบหลายงานจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองด้วยทุกอย่างมันเป็นลูกโซ่กันหมด

James Shotwell ยังแนะนำด้วยว่า Skill สามอย่างที่จำเป็นสำหรับการเป็น Music Journalist ในยุคนี้คือ มีความรู้ในด้านดนตรี และ อธิบายออกมาได้น่าสนใจ แถมยังสามารถหยิบยกเรื่องราวของศิลปินมาเล่าให้มีเสน่ห์ดึงดูดคนฟัง ที่สำคัญคือใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ ได้คล่องมือ บล็อกอาจไม่ใช่พื้นที่เดียวที่จะถกเถียงเรื่องดนตรีอีกต่อไป ถ้าคุณกล้าที่จะท้าทายและทำวีดีโอ ทวิต หรือพอดแคสต์มาเพื่อซัพพอร์ตงานเขียนของเราให้เข้าถึงทุกคนได้ด้วยก็จะยิ่งดี

Nifty เองก็ตัดสินใจแล้วว่าอยากเป็น Music online zine ที่เป็นกระบอกเสียงอีกอันให้ศิลปินไทย ฝากติดตามพวกเราต่อไปด้วยแต่อย่าลืมว่านายเองก็เป็น Music Journalist ได้นะ!

photo freepik.com

About the author

ชอบฟังเพลงใหม่ ๆ ตลอดเวลา และอยากแนะนำเพลงใหม่ ๆ ให้ทุกคนฟังผ่านตัวอักษร ตลอดเวลา

บุคคลที่หลงใหลเรื่องลี้ลับ และยำแซ่บ ๆ