Freaking Out The Neighborhood บาร์ที่รอให้มาค้นพบเสียงเพลงใหม่ ๆ

1259
คืนวันศุกร์แบบนี้ ถ้ายังไม่มีแพลนจะออกไปไหน เราชวนมานั่งจิบเครื่องดื่มง่าย ๆ ที่ Freaking Out The Neighborhood ฟังดนตรีที่คัดสรรมาเป็นอย่างดีโดย กิ—กิรตรา พรหมสาขา จาก Have You Heard? เบส—จิตติ พรหมสาขา ณ สกลนคร และ James Gilbody หรือดีเจ DeLorean จาก Phatfunk ที่เอาคอลเล็กชันแผ่นเสียงส่วนตัวของตัวเองมาแบ่งปันให้พวกเราได้ฟังตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย
Listening bar ถือเป็นคำที่ไม่ค่อยใหม่นักสำหรับคนกรุงเทพ ฯ เพราะเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วก็มีบาร์หลาย ๆ แห่งที่เริ่มแนะนำตัวด้วยคำจำกัดความนี้ ซึ่ง listening bar ก็หมายถึงบาร์ที่เน้นดนตรีมากกว่าเครื่องดื่ม ใครก็ตามที่แวะมาสามารถคาดหวังว่าจะได้ฟังดนตรีกันอย่างเข้มข้นตลอดคืน โดยเสน่ห์อย่างแรกที่เราสัมผัสได้ก็คือแต่ละที่ก็จะมี selection แตกต่างกันออกไปตามแต่รสนิยมของเจ้าของร้านนั่นเอง
และนี่ก็ถือเป็นข่าวดีสุด ๆ สำหรับแฟน ๆ ของ Have You Heard? โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตขวัญใจคอดนตรี ตัดสินใจเปิด listening bar แห่งใหม่ซ่อนตัวอยู่ในซอยสุขุมวิท 36 รอให้พวกเรามา Freaking Out The Neighborhood กันได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และเราจะได้ฟังเพลงของหลาย ๆ วงที่ HYH? เคยพามาเล่นที่ไทย หรือเป็นวงที่พวกเขาชื่นชอบกันอย่างแน่นอน
“เมื่อก่อนเราจะได้เจอเพื่อนตามคอนเสิร์ต ใครจัดงาน มีดีเจ มีอีเวนต์ ก็จะได้เจอกัน แต่พอมีโควิดแล้วจัดคอนเสิร์ตไม่ได้ ไม่มีปาร์ตี้ แล้วก็ไม่ค่อยมีบาร์ที่ไปได้ชิล ๆ เราคิดเราว่าบาร์ในกรุงเทพ ฯ มันสำหรับ extrovert ต้องเตรียมตัวเตรียมใจนิดนึงก่อนจะไปบาร์ เพราะต้องไปเจอคน ต้องไปปฏิสัมพันธ์ บางทีเหนื่อยมาก ๆ แล้วก็ไม่อยากพูด อยากแค่นั่งเฉย ๆ คุยกันเบา ๆ หรือที่ที่เพื่อนเราจะไปก็มีน้อย ยิ่งช่วงหลังคือทุกคนบอก งั้นเจอกันตามบ้านเพื่อนก็ได้ (หัวเราะ) ยิ่งตอนนี้คงมีหลายคนที่โตขึ้นแล้วอาจจะคิดหนักเวลาต้องไปคอนเสิร์ต ก็อาจจะอยากลองมานั่งฟังเพลงที่นี่แทน”
กิและเจมส์ เล่าให้เราฟังว่า แรงบันดาลใจในการเปิดร้านมาจากการที่ได้มีโอกาสไป listening bar ที่ญี่ปุ่น ต้องเล่าก่อนว่าที่โตเกียวแทบจะเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมนี้ การไป ‘listening bar’ ของพวกเขาหลาย ๆ ครั้ง คือการไปเพื่อ ‘ฟังเพลง’ กันจริง ๆ อย่างเราเคยไปร้านชื่อ Shelter เขาก็มีบูธดีเจ มีระบบเสียงแบบจริงจัง มีบาร์ให้สั่งเครื่องดื่ม และมีที่นั่งอยู่ในมุมเงียบ ๆ ไม่มีใครมีปฏิสัมพันธ์กับใครเพราะทุกคนตั้งใจไปฟังเพลง! ส่วนร้านที่กิกับเจมส์ไปมีชื่อว่า Bar Martha ถึงขนาดมีการอธิบายกฎตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในร้าน ห้ามพูดคุย ห้ามใช้โทรศัพท์ ห้ามถ่ายรูป สิ่งที่คุณจะทำได้ก็มีแค่สั่งเครื่องดื่มมาจิบเงียบ ๆ และฟังเพลงที่พวกเขาเลือกมาเปิดเท่านั้น แต่กิก็ไม่อยากให้บรรยากาศตึงเครียดจนเกินไป จึงทำให้มีความเป็นกันเองมากขึ้น อาจจะคุยกันได้บ้างแต่เสียงเพลงก็จะยังดังกว่าเสียงของพวกเราแน่ ๆ
“ที่ญี่ปุ่นเขาก็เปิดยาว ๆ ทำให้เราตั้งใจฟังขึ้นเหมือนกัน เหมือนทุกวันนี้เราฟังเพลงในสตรีมมิง ก็มาเป็นเพลย์ลิสต์ น้อยมากที่จะฟังเป็นอัลบั้ม หรือเวลาอยู่บ้านมีแผ่น เราก็อาจจะไม่ได้มีอารมณ์ลุกขึ้นมาฟัง มันต้องเปิดเครื่อง จับนั่นนี่มาวาง คือต้องว่างจริง ๆ คิดว่าการเปิดร้านก็เหมือนได้เปลี่ยนบรรยากาศด้วย”
อีกส่วนนึงคือพวกเขาคิดถึงบรรยากาศของการที่บทสนาสร้างแรงบันดาลใจพรั่งพรูออกมาผ่านคนที่ชื่นชอบอะไรคล้าย ๆ กัน
“เมื่อก่อนตอนไปนิวยอร์ก มีบาร์ที่ชอบชื่อ Daddy’s ก็จะเป็นบาร์ของคนในวงการดนตรี บาร์เทนเดอร์ก็มีวง ทำเพลง แล้วมาทำอันนี้เป็นไซด์จ๊อบ แล้วพอบาร์เป็นฟีลนี้ก็ทำให้คนที่มาที่ร้านเป็นเพื่อน ๆ นักดนตรีด้วยกัน หรือคนในวงการดนตรี ศิลปะ ใครไม่รู้จะไปไหนแต่ถ้าอยากเจอคนแบบเดียวกันก็จะมาที่นี่ มันทำให้เกิดบทสนทนาสนุก ๆ แบบนักดนตรีมาคุยกัน หรือใครจะร่วมงานกัน จะจัดงานด้วยกัน มันทำให้สถานที่นั้นน่าสนใจขึ้นมาโดยไม่ต้องมีเครื่องดื่มแฟนซีก็ได้ เราเลยให้ เอ็กซ์ กับ ไวกิ้ง วง Soft Pine มาเป็นบาร์เทนเดอร์และเลือกเพลงเปิดในแต่ละคืน แล้วส่วนตัวเราก็ไม่ใช่คนกิน complex cocktail ก็จะกิน gin & tonic หรือคอกเทลง่าย ๆ หรือพวกคลาสสิก แต่เราก็เลือกมาแล้วว่าอะไรที่คนน่าจะชอบดื่มกัน ก็มี negroni กับ Freaking Hendricks ที่เป็นเมนูแนะนำ เครื่องดื่มเราราคาจะไม่สูงจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้ถูกที่สุด เพราะเราเลือกเหล้าราคากลาง ๆ ก็อยากให้คนมาหาเราบ่อย ๆ ดื่มสักสองแก้วแล้วก็นั่งชิล ฟังเพลงกัน อ้อ แล้วก็มี mixed nuts กับ fried chili เป็นสแน็คให้ด้วย พริกทอดอร่อยมาก”
เราสังเกตว่าปกติบูธดีเจจะมีเทิร์นเทเบิลสองหัวไว้สำหรับมิกซ์เพลงต่อเพลงกัน แต่ที่นี่มีเทิร์นแค่เครื่องเดียว
“ที่นี่เราจะมีเทิร์นเทเบิลแค่ตัวเดียว” เจมส์เล่า “เพราะผมรู้ว่าถ้าเรามีเทิร์นสองตัว พอผมเริ่มเมาแล้วผมน่าจะอยากดีเจแน่ ๆ (หัวเราะ) หรือถ้าเพื่อนมา เพื่อนผมส่วนใหญ่ก็เป็นดีเจ เขาก็จะขอดีเจแน่ ๆ ผมเลยรู้สึกว่าเราจำกัดตรงนี้ดีกว่า เราไม่ใช่ปาร์ตี้บาร์ อยากให้ทุกคนมานั่งฟังเพลงกันชิล ๆ ค่อย ๆ เล่นไปทีละเพลง ทีละหน้า ผมรู้สึกว่า listening bar ส่วนใหญ่เขาก็มีเทิร์นเทเบิลแค่ตัวเดียวแหละ”
ไฮไลต์ของร้านเลยก็คือเคาน์เตอร์บาร์ 10 ที่นั่งที่เราจะได้ประจันหน้าเข้ากับเครื่องเสียง โดยสามารถมองเห็นคอลเล็กชันแผ่นเสียงบนชั้นได้ (ใครอยากฟังเพลงอะไรบนเชลฟ์ก็ลองอ้อนบาร์เทนเดอร์ดูเผื่อใจดีเปิดให้)
“เพลงส่วนใหญ่ที่เปิด ลองดูบนชั้นก็ได้ คอลเล็กชันพวกเราจากซ้ายสุดจะเป็นเพลงนุ่ม ๆ แล้วก็มีอินดี้ บริตคลาสสิกร็อก แล้วก็มุมขวาบนจะเป็นเพลงหนัก ๆ วันไหนถ้าเปิด Toro Y Moi หรือ IDLES บาร์จะคึกคักมาก ส่วนฮิปฮอป อาร์แอนด์บี เราจะพยายามไม่ไปแตะ (หัวเราะ) ผมเคยเป็นดีเจที่บาร์นึง แน่นอน เวลาเล่นก็จะเล่น motown โซล ฟังก์ เพราะเพลงมันฟังง่าย ใคร ๆ ก็คงจะชอบ มันชิล แล้วก็มีดีเจอีกคนนึงเป็นเพื่อนผมมาเล่นต่อ เพลงที่เลือกมาเล่นแทบจะเหมือนกันเลย แล้วเวลาเราเล่นเพลง เราก็เหมือนเล่นเอาใจคนฟัง พอถึงจุดนึงทุกคนก็เล่นฮิปฮอป r&b ซึ่งมันคล้ายกันไปหมด จริง ๆ แล้วเราอยากให้คนได้มาลองฟังเพลงใหม่ ๆ ด้วย”
ด้านข้างอาคารทรงคอนเทนเนอร์สีขาวก็มีสนามหญ้าให้เราแวะมานั่งชิลได้ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีกิจกรรมร่วมฉลอง Record Store Day ที่พวกเขาจะชวนร้านแผ่นเสียงมาออกร้าน และจะมี jam session ให้คุณนำแผ่นเสียงอัลบั้มโปรดมาเปิดผลัดเปลี่ยนกันไปคนละเพลง นอกจากนี้ก็มีมุมขาย merchandise ของวงอินดี้ในประเทศ และแผ่นจาก HYH Records ให้ได้เลือกซื้อกันด้วย (อ้อ นักดนตรีสามารถเอา merch หรือซีดีของตัวเองมาฝากขายได้ด้วย)
น่าเสียดายที่ listening bar ในไทยยังมีไม่หลากหลายเท่าไหร่ แต่ถ้าใครสนใจก็ลองแวะเวียนไปร้านที่เปิดเพลงจากแผ่นเสียงได้ที่ Studio Lam, Modern-day Culture, Jacqueline, Lennon’s, Siwilai Sound Club, Sugarray หลาย ๆ สาขา ชั้น 2 ของ Alonetogether, Strange Fruit หรือที่เชียงใหม่มี 1st Press ที่หาดใหญ่แวะไป 22 Nakhonnok ได้นาจา
Freaking Out The Neighborhood
เปิด พุธ-เสาร์ 18.00-23.00 น.
แนะนำให้จองล่วงหน้า
400 เมตรจากสถานี BTS ทองหล่อ ที่จอดรถมีจำนวนจำกัด
โชว์ผล ATK ที่ตรวจมาไม่เกิน 24 ชั่วโมง หรือตรวจ ATK ที่หน้าร้าน (ราคา 100 บาท)

About the author

อิ๊ก พนักงานประจำที่เขียนบทความดนตรีในเวลาว่าง หรือถ้าไม่ว่างก็สันนิษฐานได้ว่าจะพบเธอที่คอนเสิร์ตหรือปาร์ตี้