‘SHH! Animal Dancing’ ชวนมาปลดปล่อยความสนุกหลังล็อกดาวน์ ในเทศกาลดนตรีที่ไม่อยากบอกใคร

2056

หลังปลดล็อกโควิด Shh-Bkk กลับมาอีกครั้งแบบไม่รอช้า เพราะรู้ดีว่าพวกเราอุดอู้อยู่แต่ในบ้านกันมาหลายเดือน หนนี้พวกเขาเลยพาทุกคนออกจากผนังสี่เหลี่ยม ไปสูดอากาศสดชื่นกันในงาน SHH! Animal Dancing พบวงดนตรีและดีเจขวัญใจเยาวรุ่นเมืองทิพย์ ทั้ง Soft Pine, Door Plant, Alec Orachi, Supergoods, Summer Dress, Srirajah Rockers รวมถึงกิจกรรมและร้านค้าที่น่าสนใจมากมาย รายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจีของ Midwinter Farm เขาใหญ่ ในวันเสาร์ที่ผ่านมา 

Midwinter Farm เขาใหญ่

SHH! Animal Dancing - Midwinter Farm เขาใหญ่

Shh-Bkk ถือเป็นงานแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงคลายล็อกดาวน์โควิดตั้งแต่ระลอกแรก โดยทีมจัดงานอย่าง ESC ตั้งใจจะให้หลายคนที่เคยมีชีวิตคลุกคลีอยู่กับงานดนตรีศิลปะกันเป็นกิจวัตร แต่ต้องห่างหายกันไปเพราะ social distancing ได้กลับมาซึมซับบรรยากาศของอีเวนต์เหล่านี้อีกครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2020 ที่ Never Normal เป็น creative space ล่าสุดในย่านลาดพร้าว ซึ่งเราก็ได้มีโอกาสได้ไปออกบูธในครั้งนั้น ต้องเรียนตามตรงว่าไม่ชินแบบสุด ๆ เพราะเป็นงานแรกในรอบหลายเดือนที่ได้กลับมาพบปะผู้คนเป็นจำนวนมาก (แต่ทุกคนใส่แมสก์และเว้นระยะห่างอยู่นะ) แต่ผลสุดท้ายแล้ว งานก็รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ที่มาร่วมงาน และสามารถเป็นแนวทางของการกลับมาจัดอีเวนต์ในช่วงเวลาแบบนี้ได้ดี 

แต่กับ SHH! Animal Dancing หรืองาน Shh! ครั้งที่ 2 ก็มีความแตกต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากเป็นการจัดงานในช่วงการคลายล็อกดาวน์ระลอกสอง ที่ประชาชนเริ่มคุ้นเคยและปรับตัวรับมือกับ new normal ได้ดียิ่งขึ้น อย่างที่เราสังเกตว่าหลาย ๆ คนตั้งตารอที่จะไปงานนี้โดยไม่ค่อยลังเลว่ากลัวเจอคนเยอะไป’ ‘กลัวความเสี่ยงอีกทั้งทุกคนก็ระมัดระวัง และเตรียมตัวมาอย่างดี เลยทำให้บรรยากาศของกิจกรรมรวมหมู่กับเพื่อนมนุษย์ค่อนข้างกลับมาเป็นปกติด้วย 

20 มีนาคม 2564 SHH! Animal Dancing – Shh! ครั้งที่ 2 

เช้าวันเสาร์หนึ่งในหน้าร้อน พวกเราเดินทางฝ่าการจราจรหนาแน่นจากกรุงเทพ ฯ มายังเขาใหญ่เพื่อร่วมงาน Shh! ปกติเราจะมาเที่ยวโซนนี้ในช่วงหน้าหนาว เลยทำให้มีภาพจำว่าเขาใหญ่ค่อนข้างแห้งแล้ง กลับกัน การมาเที่ยวในหน้าร้อนที่แม้แสงแดดและอุณหภูมิจะหฤโหด แต่ก็ทำให้ได้เห็นเขาใหญ่ในมุมที่เปลี่ยนไป คือตลอดเส้นทางมีความเขียวขจีและมีดอกไม้หน้าร้อนสีสดบานสะพรั่ง ถือเป็นความสวยงามที่พอจะชดเชยความร้อนได้

ประมาณบ่ายสามโมงหลังเช็กอินเข้าที่พัก เราเลี้ยวรถเข้ามายังร้านอาหารชื่อดังของเขาใหญ่ บริเวณด้านหลังอาคารคล้ายปราสาทก็มีลานหญ้ากว้าง มองไปแล้วเห็นว่าเป็นบริเวณที่จัดงาน มีการตกแต่ง เวที และเสียงดนตรีคลอมาในอากาศ เราหยิบเก้าอี้สนามขึ้นสะพายไหล่ แล้วเดินผ่านทางเข้าที่เป็นรั้วอิฐสูง ๆ มีป้ายอักษรดัดสละสลวยเขียนว่า Midwinter Farm เข้าไปยังจุดตรวจวัดอุณหภูมิตรงทางเข้างาน รับบัตร ตรวจสัมภาระ และเข้ามาถึงบริเวณหน้าเวที

เรากางเก้าอี้สนามและลงนั่งในร่มไม้ที่พอจะหาได้ในเวลานั้น Soft Pine กำลังเซ็ตเครื่องดนตรีอยู่บนเวทีที่เป็นพื้นยกระดับเล็ก ๆ 3 แท่น โดย 3 แท่นนั้นถูกจัดให้เป็นโค้งพระจันทร์เสี้ยว และมีเครื่องเสียงขนาบบริเวณด้านหน้าและด้านข้าง ตอนนั้นเองที่เห็นว่าเวทีขวาสุดมีแจ็คกี้ หรือ Alec Orachi มาเล่นในตำแหน่งเบสให้กับวงในโชว์นี้ด้วย 

ตอนประมาณสามโมงครึ่งที่แดดยังเปรี้ยงอยู่ วงแรกอย่าง Soft Pine ก็เริ่มเล่นเพลงLidoเพลงป๊อปเบา ๆ จังหวะน่ารักของวงก็ช่วยคลายความร้อนลงไปได้บ้าง จากนั้นก็เป็นเพลงYou’ll Be Fineและซิงเกิ้ล lo-fi เพลิน ๆthru the night’ ที่เมื่อนำมาเล่นสดแล้วกลับมีความกระฉับกระเฉงและหนักแน่น แตกต่างออกไปจากที่เคยได้ฟัง audio โดยเฉพาะกับโซโล่กลองที่มีสัดส่วนที่ทำให้ฟังสนุกยิ่งขึ้น ต่อด้วยLe Couronneเพลงเบสหนึบหนับแทร็คสุดท้ายจากอัลบั้มMajor 13th, Love, Snake Plantที่คล้ายพาเราขึ้นรถไฟเดินทางไปชานเมือง เข้ากับบรรยากาศของสถานที่มาก และเป็นMy Sweet Eggซึ่งในพาร์ตกีตาร์ของเอ๊กซ์ และไวกิ้ง ก็มีการพยายามจะรับส่ง เล่นเหลื่อม ๆ ไปจนถึงเล่นให้ยูนิซันกัน ก่อนจะมีกลองเร้า ๆ ขึ้นมาเปลี่ยนมู้ดในOnly You Knowที่ตอนกีตาร์โซโล่มีการ strumming เมโลดี้สุดแสนจะสดใส

Soft Pine

ตามด้วยLife in the Basement’ เพลงพิเศษในอัลบั้ม compilation ของ Tomato Love Records ที่ระดมทุนช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าในออสเตรเลีย ตามด้วยเพลงดัง ‘เผลอนอนต่อ‘ และเพลงบรรเลงเพราะ ๆ ‘Indoor Plant‘ ที่อยากจะเอนตัวลงนอนบนหญ้าเดี๋ยวนั้น และ ‘byeจากอัลบั้มล่าสุดrandom day, yehมีท่อนที่กีตาร์สื่อสารกันด้วยการผลัดกันโซโล่สร้างความน่าสนใจในเพลง เป็นการบอกลากันอย่างเป็นทางการสำหรับโชว์แรกของวันนี้แบบผ่อนคลาย

SHH! Animal Dancing ชวนไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่เขาใหญ่ พบวงดนตรี Soft Pine, Door Plant, Alec Orachi, Supergoods, Summer Dress, Srirajah Rockers

พอดูโชว์ของวงแรกเสร็จ เราก็เดินไปซื้อน้ำดับกระหายเพราะทนความร้อนเดือนมีนาคมไม่ไหว แล้วกลับมานั่งดูวง Door Plant วงเซิร์ฟร็อก อินดี้ป๊อปน้องใหม่ที่จะขึ้นเล่นในเวลาสี่โมงเกือบครึ่ง สังเกตว่ามีเจษ วง YEW มาช่วยเล่นเบสด้วย ตอนนั้นวงเริ่มบรรเลง intro ที่เหนือความคาดหมายมาก จากที่เป็นกีตาร์ดรีมป๊อปใส ๆ ก็เริ่มเข้าความรีเวิร์บ ฟัซหนักหน่วง เป็น shoegaze ที่พาร์ตดนตรีหนัก ๆ จนทำเอาเราเหวอไปพักนึง และอุทานในใจว่าสะใจโว้ยเพราะพวกเขาดึงเอาดนตรีร็อกกลับมาทำให้มีชีวิตชีวา พอเหลือบดูก็เห็นว่าวงนี้เขามีกีตาร์สามตัวก็ใจชื้นละ แบบนี้แหละที่สังคมต้องการ ซึ่งพอใกล้จบเพลงวงก็ค่อย ๆ ลดไดนามิก คล้ายกับเป็นการ fade out ออกไป ทำเอาเราขนลุกในสกิลการแสดงสดที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ นักร้องนำพูดว่าจะเล่นเพลงใหม่ที่เพิ่งปล่อย ได้ยินเสียงเมโทรนอมแลบออกมาเล็กน้อย (หรือนั่นเป็น midi เขานะ) กับเพลงเห้ออินดี้ป๊อปฟุ้ง ๆ ท่ีฟังดูเหมือนได้อิทธิพลมาจากเพลงป๊อปหนังวัยรุ่นอเมริกันเมื่อก่อน แต่พอเข้าท่อนโซโล่ก็ซัดดนตรีหนักแน่นทีเดียว

จากนั้นจึงเล่นเพลงJust Sometimesทำให้เรานึกถึงพวกวง surf rock, indie rock ต้น 2010s ที่พลังงานพุ่งพล่าน และไดนามิกตอนส่งเข้าท่อนฮุกคือแข็งแรง ปลุกเร้ามาก แล้ววงก็ส่งเราไปพักหูในเพลงที่นุ่มที่สุดของวงอย่างขอให้เธอแต่ช่วงโซโล่เราก็แอบได้ยินความกวนโอ๊ยกับกีตาร์แง้น ๆ ที่แอบซ่อนความซ่าให้เพลงใส ๆ เพลงนี้ได้ดี ต่อด้วยเพลงที่ยังไม่ได้ปล่อย ซึ่งอยู่ใน EP ของพวกเขา น่าจะชื่อว่าI’m Sorry to be Bored of Your Cutenessที่จังหวะเร็วขึ้นมาและชวนนึกถึงอัลเทอร์เนทิฟในหนังวัยรุ่นช่วงปี 2000s และเป็นเธอนั่นไงก่อนปิดท้ายกันไปในเพลงShower Time’ ที่พอเราฟังจบก็อยากจะไปอาบน้ำบ้างเหมือนกัน เพราะร้อนมาก ฮ่า ใด ๆ ก็คือหลังจากดูโชว์วงนี้จบแล้วก็รู้สึกว่าเป็นอีกวงที่น่าติดตามผลงานต่อ ๆ ไป จะต้องมีอะไรสนุก ๆ ให้ฟังแน่นอน 

ห้าโมงเย็น เป็นเวลาที่เริ่มแดดร่มลมตก รวมถึงท้องเริ่มร้องก็เลยไปเดินหาของกิน ในงานมีทั้งของกินเล่น พวกสลัด เฟรนชฟรายส์ แล้วก็อาหารมื้อหนักเป็นพวกพาสต้าต่าง ๆ ส่วนเครื่องดื่มก็มีเบียร์หลากยี่ห้อ และเหล้าพร้อมมิกเซอร์ละลานตา แต่ที่น่าสนใจมากคือเมนู gin and tonic ที่ปกติบาร์ในอีเวนต์มักจะลดต้นทุนด้วยการใช้ tonic water ของชเวปส์ ซึ่งรสค่อนข้างชัดและจะไปกลบรสชาติของจิน แต่งานนี้เขาใช้ Fever Tree Mediterranean ที่ไม่กลบกลิ่นและยังทำให้จินนั้น ๆ ได้เผยรสอันโดดเด่นออกมา เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ใส่ใจซึ่งเราประทับใจมาก 

SHH! Animal Dancing ชวนไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่เขาใหญ่ พบวงดนตรี Soft Pine, Door Plant, Alec Orachi, Supergoods, Summer Dress, Srirajah Rockers

SHH! Animal Dancing ชวนไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่เขาใหญ่ พบวงดนตรี Soft Pine, Door Plant, Alec Orachi, Supergoods, Summer Dress, Srirajah Rockers 2

พอกินอิ่มแล้วเราก็เข้าไปยังอาคารที่คล้ายเป็นโรงนาด้านหลัง (แต่มีแอร์นะ) ซึ่งข้างในเป็นโซนดีเจนำทีมโดย Däydang (ด้ายแดง) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมเอาศิลปิน โปรดิวเซอร์ ดีเจ visual and lighting designers มาจัดปาร์ตี้ที่เปิดเพลงที่พวกเขาชื่นชอบ และอยากแบ่งปันให้กับคนที่ชอบบรรยากาศและดนตรีที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งแอบได้ยินมาว่า installation หลังบูธดีเจที่เป็นเหมือนชั้นวาง มีโหลเหล้าดอง ไก่แจ้ มะม่วง ข้าวโพด สารพักผลไม้ชาวไร่ ก็เป็นผลงานที่พวกเขามาจัดกันเองด้วย โดยในเซ็ตแรกก็จัดหนักกัน ไม่รอพระอาทิตย์ตกดินแล้วจุดนี้

alec orachi

เราเดินออกมาในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ Alec Orachi เล่นอยู่ เขาเป็นศิลปิน r&b ที่หยิบจับเอาฮิปฮอป และอินดี้ป๊อป บวกกับเสียงร้องมีเสน่ห์ มารวมไว้ในผลงานได้อย่างลงตัว ทำให้หลาย ๆ คนติดตามผลงานของเขาจากที่สังเกตได้ว่ามีแฟนเพลงมานั่ง ๆ นอน ๆ รออยู่หน้าเวทีเป็นจำนวนมาก แต่ตอนนั้นเองเราก็ไปแวะดูโซนร้านค้าและศิลปะ ซึ่งได้พบกับร้านเสื้อผ้า accessory ขวัญใจเด็กเอกมัยอย่าง Sell The Soul และศิลปิน Parangjew มาเปิดบูธเพนต์หน้าฟรีโดยใช้สีเรืองแสงที่ทำจากน้ำมันมะพร้าว (ติดทนนานมากแม่) เราก็เลยไปนั่งให้น้องขวัญเพนต์หน้าไป ฟังเพลงของ Alec Orachi ไป ลมเย็น ๆ เอื่อย ๆ พัดมานี่เป็นอะไรที่เพลินสุด ๆ 

 

ตอนประมาณหกโมงเย็นที่พระอาทิตย์ค่อย ๆ คล้อยตกดิน Supergoods ก็ได้ขึ้นเล่นในช่วงที่ฟ้ากำลังเปลี่ยนสีพอดี พวกเขาเข้า intro ในจังหวะชวนยักใหญ่ ซาวด์เท่ ๆ ส่งเข้าเพลงBye Byeที่นำมา re-arrange ใหม่ให้เข้ากับไวบ์ของสถานที่และกลุ่มคนดู ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นไปจนถึงยี่สิบต้น ๆ เพลงก็เลยต้องกระฉับกระเฉงกันหน่อย ซึ่งค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่เพลงที่สอง พวกเขามีท่อน bridge ที่ร้องว่า ‘Sorry to mommy, sorry to daddy’ ที่มันไปพ้องกับเนื้อเพลงUnemployment’ ของวง Dogwhine แต่เราก็ไม่คิดว่าพวกเขาจะเอามาคัฟเวอร์จริง ๆ จุดนี้เราเลยได้ฟังเพลงUnemploymentแบบที่ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ที่ถูกอัพบีตมาให้เข้ากับเพลงอยู่เฉยเฉยที่ในช่วง pre hook ถูกเล่นออกมาในสไตล์คล้ายเพลงป๊อปแบบ Happy ของ Pharrell Williams

Supergoods

ในช่วง interlude ที่เชื่อมเข้าเพลงBlue Dreamก็มีการเพิ่มกลองสแนร์เข้ามาคล้ายจังหวะแบบ military แต่ยังคงเมโลดี้ที่เพราะสุด ๆ ของเพลงนี้ไว้ แม้จะมีการอะเรนจ์ให้ดูวาไรตี้ และใส่ทางคอร์ดแบบ psychedelic ผสม funk เข้ามา ส่วนตอนท้ายก็ตัดช่วง jazzy drum and bass ออกไป เพื่อที่จะส่งเข้าไปเพลง ‘Come Rain or Come Shineที่ปรับให้เป็นเพลงกรูฟโยกเบา ๆ จะได้ไม่ขัดอารมณ์กับเพลงสุดหวานอย่างชั่วคราวที่ปกติจะต้องมี บอส วง Rootsman Creation มาร่วมร้องด้วย คราวนี้มาย นักร้องนำ ก็ขอควบท่อนร้องรับของบอสไว้ด้วยเลย ซึ่งเธอก็ทำได้อย่างไร้ที่ติ มีท่อน bridge ที่ยืมเอา Space Oddity ของ David Bowie มาใส่ในเวอร์ชันอะเรนจ์ใหม่นี้ แล้วซาวด์กีตาร์ช่วงท้ายก็ถูกปรับให้ตรงกับที่เป็นที่นิยมของยุคสมัยของเพลงต้นฉบับ ขณะเดียวกันเราก็สังเกตเห็นไฟและควันที่ผสมรวมกันได้สวยงาม เข้ากับอารมณ์เพลงมาก

ร้านค้าในงาน SHH! Animal Dancing หรืองาน Shh! ครั้งที่ 2

พอจบเพลงพร้อมด้วยเสียงปรบมืออื้ออึง พวกเขาก็เอาเพลงLovelessที่ทำร่วมกับ JITIVI หรือ ไผ่ วง Plot มาเล่นสดเป็นครั้งแรก โดยเล่าว่าเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจจากวง shoegaze My Bloody Valentine แต่เนื้อหาในเพลงก็อดทำให้เรานึกไปถึงนักเขียนชั้นครูรงค์ วงศ์สวรรค์ เสียทุกที โดยเวอร์ชันนี้ถูกนำมาเรียบเรียงให้มีความลึกลับ เท่ และมีการใส่ท่อนแบบ Brazillian Jazz ส่วนท่อนท้ายของเพลงที่ร้องว่าฉันเป็นของคุณ คุณคนเขียนก็ได้นำเอา drum and bass มาใส่ไว้จนจบเพลง ส่งให้อารมณ์เพลงพุ่งพล่านมาก ๆ วงได้ส่งท้ายโชว์กันไปด้วยคัฟเวอร์เมดเลย์เพลงของ Stereolab (ซึ่งเราเห็นตรงกันว่า ไม่ใช่วงที่จะเล่นตามได้ง่าย ๆ) อย่างBrakhageจากอัลบั้มDots and Loopsมารวมกับ ‘Move On Up‘ เพลงดังของ Curtis Mayfield แล้ววงก็ทำออกมาได้ไร้ที่ติ โดยมีท่อนให้แต่ละคนได้โซโล่พาร์ตของตัวเอง มีการเอากีตาร์มาเล่นแทนเสียงซินธ์เครื่องสาย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เราได้ตลอดทั้งเพลง 

จบจากตรงนี้เราก็แวบเข้าไปดูดีเจ เป็นเวลาที่ Krit Morton กำลังแสดง เหมือนว่าทุกคนได้ปลดปล่อยความอัดอั้นของการ quarantine ในปาร์ตี้นี้ พอเต้นไปได้สักพัก กลัวจะเพลินเกินไม่ทันออกมาดู Summer Dress ก็เลยต้องสละเรือจากตรงนั้นมากระโดดโลดเต้นหน้าเวที Summer Dress หยิบเพลงUiชื่อเดียวกับอัลบั้มใหม่มาเล่นเป็นเพลงแรก สลัดความอ่อนโยนของอัลบั้มที่แล้วไปหมดสิ้นและสาดใส่ความร็อกหนักหน่วงไปยังคนดูตั้งแต่เพลงแรก ช่วงท้าย ๆ มีคอร์ด pentatonic คล้ายหมอลำ ที่อีกนิดพวกเราจะเซิ้งตามกันแล้ว จากนั้นก็เป็นเพลงMarie Kondoที่ในอัลบั้มฟังแล้วจะรู้สึกว่าเป็นเพลงสแตนดาร์ดแจ๊สเบา ๆ เอาไว้เปิดฟังตอนจัดบ้านเพลิน ๆ แต่ในงานวันนี้พวกเขาเอามาเล่นซะร็อก ลืมความรื่นรมย์นั้นไปชั่วคราว ต่อด้วย1-10งานจากชุดSerious Musicที่สามารถเล่นต่อกันได้จากเพลงที่แล้วเพราะมีความเป็น muzak แต่ถูกเปิดมาด้วย drone sound นอยซ์หนัก ๆ ในกีตาร์ของแนทที่แง้ด ๆๆๆ มาเต็มที่ ตามด้วยMy Sinเพลงช้าที่กลับถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้หนักหน่วงแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว คือตลอดชีวิตนี้ถ้าตามวงตั้งแต่ชุดแรก ใครจะไปคิดว่าจะได้ฟังเต๊นท์ Summer Dress ว้าก อัลบั้มนี้แหละที่พวกเขาได้ปลดปล่อยพันธนาการจากสิ่งต่าง ๆ และนำเสนออะไรแบบที่เราคาดไม่ถึงออกมาเยอะมาก ความน่าดีใจคือ ถึงแม้จะเป็นเพลงใหม่ แต่คนดูก็พากันร้องท่อนกูนี่แย่เอง ไม่ต้องโทษใคร แสงสปอตไลท์ ส่องที่กูในทันใด โทษเทวดาฟ้าดินก็ไม่ใช่ ตัวกูน่ะเหี้ยเอง ไม่โทษเทวดากันได้ชัดถ้อยชัดคำ

Summer Dress - SHH! Animal Dancing

จากนั้นพวกเขาก็หยิบเพลงจากอัลบั้มActivityที่ชื่อโคลัมบัสมาอะเรนจ์ใหม่ เพิ่มความร็อกด้วยกีตาร์หนักและเกรี้ยวกราด แต่ยังคงความเป็น pop, euro disco ให้มีกลิ่นอายของวงยุคแรกไว้บ้าง แล้วก็เป็นอีกเพลงฮิตThe Beatles Feverที่เหมือนเป็นตัวเชื่อมอิทธิพลดนตรีระหว่างอัลบั้ม 2 และ 3 เลยสามารถอยู่ในลิสต์นี้ได้แบบไม่เคอะเขิน แต่ที่เซอร์ไพรส์คือตอนหลังเล่นเป็นเมทัล แล้วส่งเข้าFancy IIเพลงสุดหัวปั่นที่มีการเพิ่มเนื้อร้องเข้ามา และมีโมดูลาร์ซินธิไซเซอร์ส่งเสียงหนักหน่วงเข้ามาด้วย อารมณ์เพลงและบรรยากาศในโชว์ถูกบิลด์ไปถึงขั้นสุดในเพลงความรู้สึกที่ไม่ใช่และเซอร์ไพรส์ด้วยการเล่นเพลงฮิตยุคแรกแพ้ทอมที่ทำเอาเรากับแฟนเพลงคนอื่น ๆ กระโดดเป็นบ้าเป็นหลัง เฮ้อออ สดชื่นชะมัดเลย 

SHH! Animal Dancing หรืองาน Shh

ถึงเวลาของวงดนตรีวงสุดท้ายของงานอย่าง Srirajah Rockers วงเร็กเก้รุ่นพี่ที่หลาย ๆ คนรอคอย เพราะนาน ๆ ทีพวกเขาจะได้มาเล่นดนตรีสดให้เราได้ฟังกัน ชาวคณะมายืนพร้อมเพรียงกันหน้าเวที ศิลปินเองก็พร้อมบรรเลงเพลงแรกให้ได้ผ่อนคลายจากโชว์ที่แล้วในเพลงตากแดดเสียงประสานของนักร้อง คลอไปกับดนตรีชวนจิตใจชื่นบาน จากนั้นพวกเขาก็เล่นเพลงออแกนิกเสียงเพลงจังหวะกระฉับกระเฉงก็ทำเอาใครหลายคนเผลอโยกไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพลงต่อไปที่เล่นคือเติมวินนักร้องนำชวนให้ทุกคนหยิบอาวุธในมือขึ้นมาจุด กลิ่นสมุนไพรคละคลุ้งไปทั่วสนามหญ้า เชื้อเชิญในสิงสาราสัตว์ในตัวเราออกมาร่ายรำ ให้คึกคักต่อกันด้วยKarma Sound System

Srirajah Rockers ยังเล่นได้ดีเหมือนเคย

แล้วมาฟังการประสานเสียงสุดไพเราะของแฟนเพลงในพันลำพังน่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้ดูสีชา แล้วแฟนเพลงช่วยกันร้องเพลงนี้ได้เพราะมาก เสียงสูง perfect pitch งดงาม และน่าขนลุก ไฟและควัน ที่ทั้งออกมาจากเครื่อง และลมหายใจของผู้ชม ช่วยส่งให้บรรยากาศในโชว์นั้นยิ่งมีความชวนฝัน พอจบเพลงนี้พวกเขาก็เล่นเพลงใหม่หากศรัทธา’ ที่เราเหวอเล็กน้อยกับช่วงต้นเพลงที่มาเป็น r&b pop เพราะพริ้ง แทรกซาวด์อิเล็กทรอนิกล่องลอย แต่พอพ้นเวิร์สแรกไปแล้วก็เข้าท่อนเร็กเก้แบบที่เราคุ้นเคย ฟัง ๆ แล้วนึกถึงช่วงที่พี่วินไปร่วมแจมกับ The Photo Sticker Machine ในเพลง 134340 (Pluto) บอกเลยว่าถ้าเพลงนี้ปล่อยไป คนชอบเยอะมากแน่ ๆ ตามด้วยเพลง ‘การแชร์’ ที่แต่ละคนก็เริ่มส่งต่อมวนในมือไปรอบ ๆ และเพลง ‘คือเก่า’ ที่เล่นตามคำเรียกร้องของแฟนเพลง ก่อนจะส่งท้ายกันไปที่ ‘Destroy Babylon’ และ ‘Hi Speed Love’ ให้ทุกคนได้ไปสนุกกันต่อในกิจกรรมถัดไป

The Photo Sticker Machine ในเพลง 134340 (Pluto)

ขณะนี้บรรยากาศในโรงนากำลังเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เราเห็นแสงไฟสีแดงส่องลอดออกมา และมีดวงไฟคล้ายสปอตไลต์ฉายผนังโรงนา เคลื่อนที่ขึ้นไปคล้ายฟองอากาศลูกยักษ์ แต่เราไม่ได้เข้าไปในนั้น เพราะว่าในโซน market ตอนนี้ได้กลายเป็นลานฉายหนังไปแล้วเรียบร้อย โดยเรื่องที่นำมาฉายวันนี้คือเรื่อง Daisies ภาพยนตร์ปี 1966 จากเชโกสโลวาเกียที่เคยถูกห้ามฉาย เพราะแม้จะเป็นเนื้อเรื่องเซอร์เรียล น่ารักปนเพี้ยนของเด็กสาว แต่ก็ยังมีการเสียดสีประเด็นการเมืองในประเทศที่เข้มข้น เราจับจองกองฟางด้านหน้าและนั่งดูอย่างตั้งใจ พอดูแล้วก็รู้สึกท่วมท้นกับเรื่องราวในหนัง ที่ไม่น่าเชื่อว่าแม้เวลาผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้ว แต่สิ่งที่เรากำลังประสบอยู่ในสังคม ณ ตอนนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากในหนังเท่าไหร่เลย 

Daisies ภาพยนตร์ปี 1966 จากเชโกสโลวาเกีย

คนร่วมงาน SHH! Animal Dancing Daisies ภาพยนตร์ปี 1966 จากเชโกสโลวาเกีย

แสงสว่างบนจอค่อย ๆ มืดลง เวลาล่วงเลยไปจนเกือบ ๆ ตีหนึ่ง ปาร์ตี้ยังคงดำเนินต่อไป แต่ร่างกายก็ฟ้องแล้วว่าคงลุยต่อไม่ไหวเพราะอิดโรยจากการเดินทางที่ต้องปะทะกับความร้อนในช่วงกลางวัน เราบอกลาเพื่อน ๆ และเดินทางกลับที่พักไปด้วยความรู้สึกที่ก็ยังอยากกลับเข้าไปเต้น แต่ใจนึงก็คิดว่าไม่ช้านี้น่าจะมีอีเวนต์ดี ๆ อย่างงาน SHH! Animal Dancing ให้ได้ไปพบปะเพื่อน ๆ ที่ห่างหายไปนาน และคงได้ใช้เวลาสนุก ๆ ร่วมกันอีกแน่นอน 

บรรยากาศในงาน

'SHH! Animal Dancing' ชวนมาปลดปล่อยความสนุกหลังล็อกดาวน์ ในเทศกาลดนตรีที่ไม่อยากบอกใคร

ขอบคุณภาพจาก Pakawatographer

About the author

อิ๊ก พนักงานประจำที่เขียนบทความดนตรีในเวลาว่าง หรือถ้าไม่ว่างก็สันนิษฐานได้ว่าจะพบเธอที่คอนเสิร์ตหรือปาร์ตี้