คุยกับสุราปลดแอก กลุ่มคนที่ฝันอยากเห็นประชาธิปไตยในวงการแอลกอฮอล์ไทย

2873

ตั้งแต่เด็ก เราเคยได้ดูโฆษณา (ชวนเชื่อ) ของสสส. หลากหลายตัว ทั้ง จน เครียด กินเหล้า, ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ฯลฯ  พอโตขึ้นมาหน่อย ก็มีข่าวดัง “หนุ่มนิติ ม.ดังต้มเบียร์ขาย” (ปัจจุบันคือ ส.ส. เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร แห่งพรรคก้าวไกล) ก็เริ่มจุดชนวนเราให้ได้รู้จักคราฟต์เบียร์ และชวนให้เราสงสัยว่า ทำไมต้มคราฟต์เบียร์ที่บ้านมันถึงต้องผิดขนาดนั้นนะ ทำไมถึงต้องไม่อนุญาตให้ทำ เหล้าเบียร์มันเลวร้ายอะไรขนาดนั้น ซึ่งวันนี้หลังจากร่วมวงคราฟต์เบียร์กับทีมงานของ สุราปลดแอก มาหลายรอบ เราก็เลยถือโอกาสขอสัมภาษณ์พวกเขาเพื่อสร้างความกระจ่างว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันผิดจริง ๆ หรือโดนสังคมไทยตีตราให้เป็นเรื่องผิดบาปกันแน่ รวมไปถึงชวนดูว่าการแก้พรบ.มาตรา 32 จะเข้ามาช่วยพวกเขา (ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย) และพวกเรา (นักดื่ม) ได้อย่างไรบ้าง

แนะนำตัวหน่อย แต่ละคนเป็นชาวคราฟต์เบียร์ด้านไหนกันบ้าง

บะหมี่: บะหมี่ ประภาวี เหมทัศน์นะคะ เป็นตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทย ชื่อ Group B.Beer เป็นผู้ประสานงานของสมาพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเป็นผู้ประสานงานติดต่อ ยื่นหนังสือ ทำเอกสารเกี่ยวกับ ‘สุราปลดแอก’

ตูน: ผมตูน ศุภพงษ์ พรึงลำภูครับ เป็นผู้ผลิตเบียร์ยี่ห้อ Sandport ได้ไปผลิตเบียร์ต่างประเทศแล้วก็มาช่วยร่วมเรียกร้องเรื่องการแก้ไขกฎหมายสุรา โดยเฉพาะเบียร์

ไก่: สุกฤษฏิ์ ผ่องคำพันธุ์ ไก่ครับ เป็นเจ้าของร้าน Jim’s Burger and Beer เป็นผู้ประกอบการร้านคราฟต์เบียร์ แล้วก็นักดื่มด้วย (หัวเราะ)

ตี้: ตี้นะครับ อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ เป็นคนทำเพจคราฟต์เบียร์ ชื่อเพจ แดกเบียร์ให้เพลียแคม มาร่วมวงเพราะโดนหมายจับมาตรา 32 กับตัว (หัวเราะ) ก็ทำทุกอย่างที่บะหมี่ทำ ตอนนี้คดีก็ยังค้างอยู่ที่ชั้นอัยการ ก็รอ เว้นมาประมาณ 10 เดือนละตั้งแต่มกราคม แต่อายุคดีอาญาก็ 5 ปี เราก็ไม่รู้ว่าเค้าจะส่งไปที่ศาลไหม หรือจะเรียกเราตอนไหน ก็อยู่ไปแบบนี้แหละ (หัวเราะ)

สุราปลดแอก ทีมงาน

นอกจากตี้แล้ว คนอื่นมีประเด็นอะไรกันเป็นพิเศษกับมาตรา 32

บะหมี่: เราใช้ช่องทางหลักในการขายของเป็นช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Line@ Website ที่เป็นช่องทางหลักเลย แล้วก็ Facebook ที่สื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ คือ คราฟต์เบียร์ไทยมันมีน้อย มันมี channel ให้วางขายน้อย มันมีพื้นที่ให้พูดถึงน้อย การใช้ช่องทางต่าง ๆ เหล่านี้ในการให้ข้อมูล มันโดนมาตรา 32 หรือกฎหมายพรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปิดกั้นหมดเลย ถ้ากฎหมายพวกนี้ออกมาบังคับใช้จริง อย่างกฎหมายออนไลน์ บริษัทเราก็อยู่ไม่ได้เลย ตอนนี้ก็คือฟ้องศาลปกครองอยู่เรื่องกฎหมายห้ามขายออนไลน์ ส่วนมาตรา 32 ยังไม่โดน แต่ถ้าเราจะทำตามที่เค้าบอกจริง ๆ เราก็ขายของไม่ได้เพราะว่าเราพูดถึงสินค้าเราไม่ได้เลย 

ตูน: คือขอบเขตมันกว้างไป อย่างผมเป็นคนทำเบียร์ ผมไม่สามารถใส่เสื้อเบียร์ตัวเองได้ เพราะจะถูกตีความว่าผิดกฎหมายได้ หรือการที่ผมจะมีงานวิจัยใหม่ ๆ หรือผลงานใหม่ ๆ ออกมา ผมก็พูดถึงมันไม่ได้ แล้วด้วยความที่เราเป็นรายเล็กเนี่ย การที่เราไม่สามารถสื่อสารได้เลย มันเป็นการปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจอย่างแท้จริง ตรงจุดนี้หลัก ๆ ที่เป็นปัญหาสำหรับผม

ไก่: อย่างผมพูดในเชิงที่ผมเป็นผู้ประกอบการร้านค้าครับ คือพอเราทำธุรกิจอะ เราต้องการความแน่นอน แต่ตัวกฎหมายนี้มันมีปัญหา หลายคนก็มาถามผม เฮ้ย ไก่ อันนี้มันได้ป่าววะ ๆ ผมก็บอกว่า มันน่าจะได้นะ แต่มันไม่ 100% นะ เพราะสุดท้ายปัญหานี้มันคือดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผมก็ไม่รู้นะว่าวันนั้นเค้าจะใช้ดุลยพินิจอะไรกับตรงนี้ ซึ่งพอมันไม่มีความแน่นอน มันเป็นการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้กับผู้ประกอบการ แล้วเราขายของแต่มันพูดไม่ได้ มันก็ลำบากมาก

คำว่าพูดไม่ได้ คือระดับไหน

ไก่: คือเรากลัวไปหมดเลย

บะหมี่: โพสต์ไม่ได้ อยู่ในเมนูก็โดน

ไก่: กฎหมายข้อนี้จริง ๆ ถ้ามันสมเหตุสมผล ปรับน้อย ๆ เราก็เข้าใจ ถ้า (ค่าปรับ) 1,000-3,000 บาท ยังเป็นอะไรที่เราพอฟังได้ คือผมบอกตรง ๆ ว่าแต่แรกผมไม่เคยเข้าใจตรงนี้เลย คือเคยได้ยินแต่ไม่คิดว่ามันจะขนาดนี้ แต่พอมีข่าวมา อย่างตี้โดน หลาย ๆ คนโดน เราก็เริ่มไปศึกษา แล้วก็ เฮ้ย มันขนาดนี้เลยเหรอ เออเราก็เลยรู้สึกว่า มันไม่มีการตักเตือนเลย มาถึงโดนโทษขั้นต่ำ 50,000 บาทเลย มันตลกหรือเปล่า เราไม่อยากทำผิดกฎหมายหรอกครับ

ตี้: อย่างผม มองในแง่ของเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น อย่างผมเป็นบล็อกเกอร์ แล้วเราก็จะเขียนอธิบายประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคราฟต์เบียร์ ให้ความรู้ educate คน คือผมทำเพจ ผมไม่เคยมองเรื่องการค้าเลย เราไม่เคยได้เงินซักบาท ผมทำเพราะว่าผมชอบแล้วก็อยากจะส่งต่อความรู้ให้คนอื่น ให้คนเข้าใจคราฟต์เบียร์มากขึ้น มองคราฟต์เบียร์เป็นศิลปะเป็นความสร้างสรรค์ของมนุษย์ เราให้ค่ากับคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมาก แต่เรามีสมอง มีความสร้างสรรค์ในตัวเอง สร้างผลงานใหม่ ๆ ออกมาได้ แล้ว กฎหมายนี่ มันแย่ตรงที่มันไม่ให้พื้นที่เราพูดอะไรได้เลย มันจะถูกตีความว่าผิดหมด อย่างผมเขียนรีวิว เขียนอธิบาย คือผมมองว่ามันเป็นธรรมชาติมนุษย์อะ เรามีสิทธิ์ที่จะพูดอะไรก็ได้ในสิ่งที่เราดื่มกินเข้าไป แต่กฎหมายนี้มาชี้ว่าคุณผิด แค่โพสต์รูป หรือพูดถึงเบียร์ กูจะโดนจับ (ปรับ) 50,000 มันไม่ make sense สัดส่วนค่าปรับมันผิดปกติมาก ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดนะ คือเรายังไม่โดนไง ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันร้ายแรงอะไร แต่มันมีคนก่อนหน้านี้ที่โดน คือน้องฝ้าย เจ้าของเพจเบียร์จ๋าชั้นมาแล้วจ้ะ โดนไป 50,000 เราก็เลยรู้สึกว่า มันใกล้มาแล้ว 

ไก่: เป็นผู้บุกเบิก (หัวเราะ)

ตี้: ใกล้ตัว แล้ววันที่โดนกับตัวปุ๊บ จำความรู้สึกได้เลย แม่งเอ๊ย กู อะไรวะเนี่ย เครียดเลย จนกลายเป็นความรู้สึกว่า ประเทศนี้มันไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเลย 

บะหมี่: มาตรา 32 อยู่ในพรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพรบ. นี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องนี้นะ ไอ้การห้ามขายในวันสำคัญทางศาสนา เจ้าของร้านจะรู้ดี บางทีตรงกับวันหยุดศุกร์ เสาร์ รายได้หายไปแล้ว 20,000-30,000 บาท แค่เพราะเป็นวันพระ ห้ามขายบ่าย 2-5 โมง จะเปิดร้าน 11 โมง ลากยาวถึงดึกก็ไม่ได้ อยู่ดี ๆ ก็มีกฎหมายพวกนี้ออกมาโดยที่เหตุผลมันไม่ได้เมคเซนส์เลย อยู่ในพรบ.นี้หมดเลย

ตี้: เสริมว่า เรื่องขายบ่าย 2-5 โมง มันออกมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติ 2500 ต้น ๆ เค้าออกมาเพื่อห้ามข้าราชการในสมัยนั้นมาดื่มเบียร์

บะหมี่: คือข้าราชการชอบเอาพักเบรคไปกินเบียร์ 

ตูน: ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษฏิ์

ตี้: ประมาณ 60 กว่าปีที่แล้วอะ

บะหมี่: แล้วไม่เลิก ไม่เปลี่ยน ไม่แก้ 

ตี้: สังคมมันเปลี่ยนไปแล้วอะ ประเทศมันพัฒนาไปแล้ว คนมีความรู้ มีวิจารณญาณแล้ว คือคุณจะไปห้ามบ่าย 2-5 โมง แล้วคุณดูประเทศอื่นอะ ผมไปเวียดนามเค้าขาย 24 ชั่วโมง แต่จำนวนอุบัติเหตุน้อยกว่าประเทศไทยเยอะมากเลยนะ

บะหมี่: กฎหมายนี้คือตัวจำกัดเสรีภาพ อย่างไร้เหตุผล ในหลาย ๆ มาตรา ไม่ใช่แค่ 32

ตูน: รวมถึงที่มาที่ไม่ถูกต้องด้วย 

บะหมี่: พรบ. นี้มาในยุคสุรยุทธ์ ซึ่งเป็นยุคเผด็จการ 

ตูน: เป็นการผ่านกฎหมายฉบับสุดท้ายของรสช. 

ตี้: เริ่มร่างตอนปี 49 ผ่านตอนปี 51 เป็นฉบับสุดท้ายตอนตีสองกว่า (หัวเราะ) แล้วก็ไปบังคับใช้ในยุคของนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือมันเป็นกฎหมายที่มีที่มาแบบไม่ประชาธิปไตยมาก ๆ มันไม่ได้ผ่านกระบวนการรัฐสภาในแบบปกติ แล้วก็บังคับใช้มา 12 ปี แล้วไม่มีการแก้ไข 

บะหมี่: ไม่มีการประมวล ประเมิน

ตี้: มีแต่เขียนเพิ่ม ๆๆ ห้ามมากขึ้น ๆๆ คือเขียนอนุบัญญัติเพิ่ม ๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ คือโดยธรรมชาติกฎหมายอะ 3-4 ปีมันต้องมาเช็คแล้วว่ามันอัพเดตหรือเปล่า แต่กฎหมายนี้ 12 ปีอะ สังคมก็เปลี่ยนไปมากแล้วอะ แต่มันไม่แก้ไขอะไรเลย มันมีความผิดปกติทางโครงสร้างแล้วอะ 

ตูน Sandport

ตูน Sandport

จุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่า เราต้องมาเรียกร้องแล้ว

บะหมี่: เราใช้กระบวนการตามกฎหมายทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือ เข้าไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ช่วงเมษา ช่วงโควิด เรายื่นเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามขาย หลังจากนั้นเพื่อนเราโดนมาตรา 32 เยอะ เราเลยยื่นจดหมายไปว่า ช่วยระงับการใช้ข้อกฎหมายนี้อย่างพร่ำเพรื่อ หลังจากนั้นรัฐสภาเค้าก็เรียกพวกเราไปคุยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ด้วย ซึ่งเค้าก็เห็นด้วยว่ากฎหมายนี้ไม่เมคเซนส์อยากจะเปลี่ยน ทุกคนที่เราไปยื่น เห็นด้วยหมด แต่ว่าพอเรียกตัวสำนักงานที่บังคับใช้มานั่งคุย ซึ่งคือสำนักคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) ที่สังกัดกรมควบคุมโรค

ตูน: เราคุยกับเค้าซักประมาณ 15 รอบได้มั้ง คุยบ่อยกว่าแม่อะ (หัวเราะ) 

ตี้: ผมเดินเข้าไปจนเบื่อแล้วอะ 

ไก่: นี่เค้าจำได้หมดอะ (หัวเราะ) 

ตูน: เรารู้สึกว่ามันมาถึงทางตันละ ตราบใดที่อำนาจในการตัดสินใจหรือการเปลี่ยนกฎหมายมันอยู่ที่พวกเขา 

บะหมี่: คือคุยแล้วเค้าไม่รับฟัง เค้าไม่เข้าใจ เค้าไม่เห็นด้วย คือไม่หืออืออะไรทั้งสิ้น และยังคงทำต่อเหมือนเดิม เรียกส่งหมายจับ เรียกไปปรับ ไม่แคร์อะไรเลย

ตูน: คือกฎหมายกำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ คุณไม่คิดจะพิจารณาเพิ่มเติม คุณทำหน้าที่เหมือนเดิม แล้วที่สำคัญที่สุดคือมันมีสินบนนำจับด้วย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างเยอะสำหรับเค้า 

บะหมี่: 60-80% 

Nifty: ก็คือแทบไม่เข้าประเทศเลย

บะหมี่: เข้าแค่ 20% ปรับ 50,000 เข้าประเทศแค่ 20,000 ที่เหลือเค้ากินเรียบ

ตี้: ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าทำไมเค้ามีปฏิกิริยาแบบนี้ ที่แบบไม่สนห่าอะไรเลย

บะหมี่: ทำไมขยันจัง

ตี้: จนเรามาศึกษากฎหมายนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามันน่าจะมีอะไรบางอย่างที่เค้าได้ประโยชน์ เราก็ไม่อยากฟันธง แต่ก็คิดว่าน่าจะให้ประโยชน์กับคนบางกลุ่ม อย่างในระเบียบการคลังที่เขียนไว้ว่าจะได้ส่วนแบ่งค่าปรับ คือในกรณีที่ไม่มีคนมาเอาส่วนแบ่ง อย่างคนที่แจ้งจับไม่มาเอา ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ เราไม่มีทางรู้ เค้าไม่มารับส่วนแบ่ง ก็จะหักเข้าสคอ. เลย คือเจ้าหน้าที่ได้ 50,000 บาท เข้ารัฐแค่ 20,000 ส่วน 30,000 บาท เค้าจะเอาไปแบ่งกันตามสายงาน เค้าจะมีเขียนในระเบียบกระทรวงการคลังเป๊ะ ๆ เลยว่า หักให้ใคร หักเท่าไหร่ 

ตูน: ประเด็นนี้เคยไปคุยกับเค้า เค้าบอกว่าเค้าต้องการค่าความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วตอนนี้คือเค้านั่งแคปเฟสบุ๊คจับ มันเสี่ยงตรงไหน

ไก่: เอาจริง ๆ กฎหมายข้อนี้ถ้าไม่เป็นข่าว แทบจะไม่มีคนรู้จักเลย แล้วทำไมคนที่แจ้งถึงเยอะขนาดนั้น มันไม่เมคเซนส์ มันต้องเอ๊ะกันบ้าง

บะหมี่: มันมีความไม่โปร่งใส่ในกระบวนการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องผลประโยชน์ เรื่องอะไรต่าง ๆ นานาที่เรารู้สึกว่า ไม่ได้ละ เราต้องทำอะไรซักอย่างละ เราก็เลยร่วมมือกับเครือข่ายอื่น ๆ อย่างสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพจสุราไทยซึ่งต่อสู้กับกฎหมายนี้มานานแล้ว ในการร่างกฎหมายแก้ไข แล้วก็ทำเรื่องล่ารายชื่อ 

ตูน: จุดนี้มันทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ทั้งประเทศมารวมกันได้ 

ไก่: ลุกฮือ (หัวเราะ)

ตี้: ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักใคร อยู่เงียบ ๆ 

ตูน: รู้จักแม้กระทั่ง bartender sommelier สมาคมไวน์ สุราชุมชน ฯลฯ

ตี้: คนนำเข้าเหล้า

ตูน: เหมือนแบบ สงคราม middle earth อะ (หัวเราะ)

ตี้: คือถ้าเราไม่ทำอะไรซักอย่าง เราก็จะโดนเค้าเอาเปรียบไปเรื่อย ๆ

ไก่: มันต้องอยู่อย่างหวาดระแวง อย่างผมไม่เคยโดนนะ แต่เราก็มองว่า อยู่แบบนี้ ซักวันมันก็ต้องโดนอะ เวลาทำอะไรมันไม่เป็นสุข

บะหมี่: เวลาจะโพสต์ ต้องโทรมาถาม แบบ “พี่ว่าได้ปะวะ” เราก็แบบ ถ้ามันจะเล่นมันก็เล่นแหละ 

ไก่: คือถ้าเค้าหมั่นไส้ผมอะ เค้าก็ไปหาอะไรอ้างได้ทั้งนั้นอะ 

ตี้: แล้วด้วยความที่มันเป็นกฎหมายอาญา คือปกติคุณต้องเขียนให้มันแคบที่สุดเท่าที่จะแคบได้ ต้องระบุเลยว่า อะไรได้ อะไรไม่ได้ ไม่งั้นมันจะเกิดการตีความ ซึ่งมันจะผิดหลักกฎหมายอาญา แต่พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนี่ย เป็นพรบ. ที่เขียนได้กว้างครอบจักรวาล แล้วให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตของกฎหมายมาก ๆ ผมจะยกตัวอย่างเช่น มันมีบางคนไปถ่ายคลิปเที่ยวกินเหล้ากินเบียร์ที่ญี่ปุ่น พอมาลงปุ๊บ เจ้าหน้าที่บอกผิดกฎหมาย เพราะจะทำให้คนอยากบินไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อซื้อเบียร์

ไก่: แล้วเบียร์ตัวนั้นไม่มีในไทยนะครับ (หัวเราะ) 

ตี้: บางเพจเอาเหล้าจากสก็อตแลนด์มาโพสต์ เพราะมันเกี่ยวข้องกับซีรีส์ คือไม่ได้บอกเลยว่าอร่อยเลย แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้ เพราะจะทำให้คนอยากบินไปสก็อตแลนด์ คือแบบ มึงบ้าปะ(เน้นเสียง)

บะหมี่: ทำอะไรก็ได้ ให้คนที่โดนอะ ผิด 

ตี้: ใช้ common sense ของมนุษย์ทั่วไป ก็รู้แล้วล่ะว่าที่เค้าอ้างมาเนี่ย มันผิดปกติมากๆ 

ตูน: ถ้าใครโดนหมายเรียกนะครับ สามารถมาปรึกษาเราได้ เพราะเวลาเข้าไป เค้าจะไม่แจ้งเราล่วงหน้า แล้วเข้าไปถึงปุ๊บเค้าจะตั้งกล้องบันทึกเสียง แล้วพยายามพูดหว่านล้อมให้เราสารภาพ ซึ่งคนไม่รู้กฎหมาย ก็จะรู้สึกว่า นี่เราให้ปากคำ เราให้คำสารภาพแล้วเหรอ 

ไก่: แรก ๆ เค้าไม่ให้ทนายเข้าเลย เค้าขู่ 

ตี้: อย่างเคสผม คือใช้ทนายของพี่ที่รู้จัก แล้วเค้าก็บอกว่า ทนายมาทำไม ไม่ให้เข้า แต่เราก็ยืนยันว่าเป็นสิทธิ์ทางกฎหมายของเรา คือเค้ามีความพยามอะไรบางอย่างให้เราเข้าไปคนเดียว แล้วบีบให้เราสารภาพ ด้วยความว่าแต่ละคนมีต้นทุนในการต่อสู้ไม่เท่ากัน คือไม่มีใครอยากขึ้นศาลหรอก เสียสุขภาพจิต เสียเวลา เสียเงิน แล้วเค้าใช้จุดอ่อนตรงนี้มาให้เรารับสารภาพ

ตูน: จบ ๆ ไปเถอะ จะได้ไม่ต้องมีประวัติ อะไรแบบนี้ 

ตี้: แล้วเจ้าหน้าที่จะมีคำพูดว่า ถ้าคิดว่าคุณไม่ผิด คุณก็ไปสู้ในศาลสิ ซึ่งเป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความจริงให้กับพวกเรา คือเอาตรง ๆ เราโดนคุณยัดข้อหาอะ แต่ทำไมภาระทุกอย่างต้องมาอยู่ที่เรา มันไม่เมคเซนส์ มันเป็นคำพูดที่ไม่แฟร์​กับคนธรรมดา ผมขอยกตัวอย่างคือ มีน้องผู้หญิงอยู่ที่สมุย แล้วโดนหมายเรียก ต้องจำนองมอเตอร์ไซค์ เพื่อเป็นค่าตั๋วเครื่องบินจากสมุยมานนทบุรีมากระทรวงสาธารณสุข เพื่อมารับฟังข้อกล่าวหา แล้วจริง ๆ น้องไม่ได้อยากรับสารภาพเลย แต่เค้าอยู่ไกล แล้วก็มีภาระทางหน้าที่การงานด้วย มีเงื่อนไขทางชีวิตเยอะ เค้าก็เลยยอมรับสารภาพ คือเค้าใช้อะไรหลายอย่างมาบีบให้เราสารภาพ 

ไก่: มันจะมีความผิดเพี้ยนที่ว่า ในพรบ. นี้ กำหนดมาว่า คุณสามารถไปให้ปากคำที่หน่วยงานสาธารณสุขที่พื้นที่ได้ แต่ส่วนกลางเค้าบอกว่า ไม่ได้ ต้องมาที่นี่เท่านั้น

ตี้: คือเจ้าหน้าที่จากสคอ. สามารถโอนอำนาจในการเปรียบเทียบปรับให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้น ๆ ได้ สามารถโอนให้อัยการพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น ๆ เป็นคนตัดสินใจได้ แต่มันมีหลายเคสมากที่เค้าเรียกมาจากขอนแก่น โคราช สมุย ทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคุณถึงต้องให้มาที่นนทบุรี

บะหมี่: อันนี้เป็นสมมติฐานนะ เพราะว่าค่าปรับจะได้มาอยู่ตรงนั้น

ตี้: คือเราเห็นเจตนาเค้า ทำไมพยายามจัง

ตูน: เราขอตัวเลขมาหลายครั้ง คือคณะกรรมธิการต้องการตัวเลขค่าปรับ สัดส่วน ว่าเกิดขึ้นในจังหวัดใดเท่าไหร่ แต่เค้าไม่เคยยอมให้ตัวเลขเลย และปัญหานี้ ที่โดนกฤษฎีกาถามจี้แล้วว่า ทำไมคุณไม่โอนอำนาจให้พื้นที่นั้น ๆ รองผอ. สคอ. เป็นคนบอกว่า เจ้าหน้าที่ในภูมิภาค ไม่มีความเชี่ยวชาญเท่าเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ก็เลยต้องเรียกมา

บะหมี่: อีกเหตุผลนึงที่เค้าบอกคือ การค้นพบความผิด เกิดขึ้นที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่นนทบุรี คือโครงสร้างมันทำให้เราไม่สามารถเอาผิด ตั้งคำถาม หรือแก้ไขอะไรแบบนี้ได้ โครงสร้างคือราชการเป็นใหญ่ แล้วใช้กฎหมาย ขูดรีด เอาเปรียบประชาชน นี่คือรัฐราชการ

ไก่: คือเราไม่สบายใจที่จะให้เค้าทำอย่างนี้เลย เรารู้สึกว่าไว้วางใจไม่ได้

ตี้: มันไม่แฟร์กับคนทำมาหากินสุจริตอะ แล้วอีกข้อคือเงินค่าปรับที่เค้ามีส่วนได้ส่วนเสีย มันอยู่ในเงินนอกงบประมาณ ซึ่งไม่เคยมีใครตรวจสอบ มันอยู่ในบัญชีเฉพาะ 

(ฝ้าย จากเพจเบียร์จ๋าชั้นมาแล้วจ๊ะ เดินเข้ามาแจมพอดี เลยได้พูดคุยกันเพิ่มเติม) 

ตี้: เนี่ย ผู้เสียหาย 

ไก่: ผู้บุกเบิก (หัวเราะ)

บะหมี่: โดนเรียกสองรอบ คนบ้าอะไรโดนเรียกสองรอบ (หัวเราะ) 

ตี้: แล้วถ้ารอบที่สองผิด จะโดน 200,000 บาท

ฝ้าย: แต่ยังไม่โดน

บะหมี่: เค้าบอกว่า “พี่อะ ก็ไม่อยากให้น้องเสียเงิน พี่เรียกน้องมาเตือน แต่ถ้าทำอีก โดนสองแสนนะ กลับไปลบคลิปซะ”

ฝ้าย: ถ้าโดนอีกสองแสน คิดว่าวงการเบียร์จะไม่อยู่แค่นี้ เรื่องมันจะกระจายตัวมากกว่านี้อีก จะเป็นคนปลุกระดม (หัวเราะ)

ไก่: ลองมั้ย (หัวเราะ) 

ฝ้าย: ไม่มีตังค์ค่ะ (หัวเราะ) 

บะหมี่ Group B Beer

บะหมี่ Group B Beer

เป้าหมายของทีม ‘สุราปลดแอก’ คืออะไรบ้าง

บะหมี่: เรื่องแรกเลยคือ คนต้องมีสิทธิ์ในการประกอบอาชีพนี้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะมีเงินเยอะหรือน้อย คุณจะทำเบียร์ เหล้า หรือไวน์ คุณต้องได้รับสิทธิ์ในการประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียมกัน คือตอนนี้ก็มีเรื่องกฎหมายกำลังผลิต ซึ่งสส. เท่าพิภพกำลังยื่นเรื่องในสภา คือพรบ. สุราก้าวหน้า หรือพรบ. สรรภสามิตฉบับแก้ไข ก็ต้องรอโหวต 

ตี้: ซึ่งอีกนาน

บะหมี่: พรบ.สรรพสามิตเดิมจะมีการกำหนดกำลังขั้นต่ำในการผลิต เบียร์ทำน้อยไม่ได้ สุราชุมชนทำเยอะไม่ได้ ส่วนไวน์ทำเท่าไหร่ก็ได้ แต่เสียภาษีแพงมาก คือกฎหมายสุราไม่มีอะไรที่มันเป็นมาตรฐานเลย (เน้นเสียง) 

ตี้: พยายามตัดตอนรายย่อย

บะหมี่: คือคุณบอกว่าคุณเป็นห่วงประชาชน ห่วงสุขภาพ คุณเลยต้องเก็บภาษีแพง ๆ แต่เสือกทำน้อยไม่ได้  ต้องทำเยอะเท่านั้น เอ๊ะ มึงห่วงกูตรงไหน คือเราต้องการให้ผู้ผลิตสุราทุกประเภท ทุกคนเท่าเทียมกัน เจ้าใหญ่ควรเสียภาษีเยอะเพราะอะไร เพราะคุณใช้ทรัพยากรของประเทศเยอะ คุณสร้างความเสี่ยงในการเสียหาย สร้างผลกระทบเยอะ แต่ที่ผ่านมา กฎหมายไม่เคยทำอะไรแบบนี้ให้เราเลย

ฝ้าย: อย่างมีจำกัดเรื่องการตั้งโรงงาน ที่ห้ามเกิน 5 แรงม้า มันไร้สาระมาก 

บะหมี่: คนอาจจะรู้ว่าเบียร์ห้ามทำน้อย ขั้นต่ำของเบียร์คือแสนลิตรต่อปี

ตูน: อย่างคราฟต์เบียร์ Sandport ทำประมาณหมื่นลิตรต่อปี ถ้าเป็นเมื่อก่อน ตอนนี้น่าจะประมาณ 6,000 ลิตร ปีนี้น่าจะน้อยลงไปอีก (หัวเราะแห้ง)

ตี้: ซึ่งกฎหมายทำให้ทำเบียร์ในประเทศไม่ได้ ต้องไปทำต่างประเทศแทน

บะหมี่: คือเมืองนอกเค้าไม่กำหนดกำลังขั้นต่ำ เค้ากำหนดแค่ว่า อย่าทำเกินเท่าไหร่ คือถ้าคุณทำเกินนี้ คุณต้องขอใบอนุญาตแบบนึง เสียภาษีอีกแบบนึง 

ตี้: มันเมคเซนส์กว่า

บะหมี่: ถ้าคุณจะต้มที่บ้านไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณจะทำขายต้องเสียภาษี แต่บ้านเราต้มที่บ้านก็ห้าม มันจำกัดเสรีภาพทุกอย่าง แล้วมาดูกฎหมายสุราชุมชน ซึ่งถ้าเราไม่ได้ไปคุยกับเค้าเราจะไม่รู้เลยว่าเค้ามี pain point อะไร คือสุราชุมชน ทำโรงงานขนาดเล็กได้ ห้ามเกิน 5 แรงม้า ห้ามเกิน 7 คนงาน 

ตี้: 5 แรงม้าคือ หมาวิ่งก็น่าจะเกิน 5 แรงม้าแล้วอะ (หัวเราะ) 

ตูน: อธิบายง่าย ๆ ว่า ในการกลั่นสุราเนี่ย การกลั่นไม่ได้ใช้แรงเยอะ 5 แรงม้าสามารถทำเตากลั่นใหญ่ได้ แต่มันจะทำให้ไม่สามารถพัฒนาด้านการบรรจุขวด หรือการควบคุมอุณหภูมิการหมักเพื่อให้ได้เชื้อสุราที่ดี ปัญหามันเป็นประมาณนี้

ตี้: มันไม่สามารถพัฒนาให้เป็นเหล้าชุมชนที่มีคุณภาพได้

ตูน: เรียกว่า ให้มีแต่เตาอะ 

บะหมี่: คือทำได้แต่เหล้าขาวอะ ทีนี้ สุราชุมชนคือห้ามทำเหล้าสี ห้ามทำวิสกี้ ห้ามทำวอดก้า ห้ามทำจิน ห้ามทำอะไรที่สร้างมูลค่าเลย ถ้าจะทำ คุณต้องจดทะเบียนโรงงาน และต้องทำไม่ต่ำกว่าสามหมื่นลิตรต่อวัน 

ตี้: ใครจะทำวะ ไอ้บ้า 

บะหมี่: มีคนทำค่ะ คือ Regency แต่เราจะไม่โจมตีเค้า คือคุณต้องมีเงินเยอะมาก กฎหมายนี้มันกดคนไม่มีเงิน ให้ทำได้แต่ของถูก 

ตี้: ก็เลยเกิดสภาวะผูกขาดโดยไม่รู้ตัว 

ตูน: พอเราไปคุยกับเค้าอะ ภาษีเหล้าขาวถูกทั้งที่จริง ๆ แล้วแอลกอฮอล์มันเยอะกว่า ความเสี่ยงสุขภาพมันเยอะกว่าอย่างอื่น แล้วถามว่าถ้าทำวอดก้าทำไง ก็แค่เติมไส้กรองเข้าไป 1 ชิ้น แค่เอาเหล้าขาวไปกรอง

บะหมี่: แต่ไม่ได้ กฎหมายห้าม คือเท่าที่เราไปคุยมา ปรากฏว่ากฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เกิดจากนายทุน คนนั้นต้องการอะไรตอนนั้น แล้วเขียนขึ้นมา 

ตูน: เกิดจากการประชุมที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับสุราชุมชน ไม่มีความเกี่ยวข้งกับผู้ประกอบการรายย่อย เค้าคุยกันเอง คือตอนนั้นเค้าทำแบบนั้นได้  เค้ากำหนดมาแบบนั้น

บะหมี่: ภาครัฐคุยกับกลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจที่จะทำตอนนั้น ซึ่งพอมีเจ้าใหม่เป็นกลุ่มทุน อยากจะทำเครื่องดื่มประเภทใหม่ขึ้นมาอีกอย่างเช่น RTD (ready to drink) ก็ได้เรทภาษีถูกมาก ทั้งที่แอลกอฮอล์เองก็ไม่ได้ต่ำ

ตี้: พวก Spy Wine Cooler, Full Moon, Smirnoff, Bacardi

ตูน: เรียกง่าย ๆ ว่าสุราสำเร็จรูป สุราอัดแก๊ส 

บะหมี่: พอเค้าจะทำ ก็เลยมีภาษีประเภทพิเศษเพิ่มเข้ามา เราเลยรู้สึกว่าสุดท้ายอะ มันไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย ไม่ยึดกับหลักการเสรีภาพของผู้ประกอบการ ไม่ยึดโยงกับว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันอยู่ไหนในประเทศนี้ มันสร้างประโยชน์ สร้างโทษยังไง มันไม่มีตรรกะอะไรในการสร้างกฎหมายนี้ออกมาเลย แม้แต่นิดเดียว นี่คือเป็นเรื่องของการผลิต ซึ่งสุดท้ายแล้วเราอยากเอาคำว่าไวน์ เบียร์ สุราแช่ สุรากลั่นออกไป เรามาคิดว่า สุราคือสุรา ภาษีที่ต้องจ่ายหลักเกณฑ์ไหน ก็ตามนั้น ไม่ต้องมาแบ่งแยกประเภทเพื่อมาเอื้อกลุ่มทุนในแต่ละประเภท นี่คือเป้าที่สุราปลดแอกอยากไปให้ถึงเป้านั้น เรายอมเสียภาษีแพงนะ แต่ ทุกประเภทต้องใช้หลักการเดียวกัน 

ตี้ เพจแดกเบียร์ให้เพลียแคม และไก่ Jim's Burgers and Beers
ตี้ เพจแดกเบียร์ให้เพลียแคม และไก่ Jim’s Burgers and Beers

ถ้าวันนึงแก้ไขกฎหมายนี้ได้สำเร็จ อัตราภาษีที่อยากให้เป็นคือแบบไหน

บะหมี่: ทำน้อยก็เสียน้อย เพราะเราสร้างผลกระทบน้อย ต้นทุนเราสูงกว่า ทำเยอะก็เสียเยอะ เพราะผลกระทบเยอะ คุณใช้ทรัพยากรประเทศเยอะ 

ตี้: ต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย คือประเทศเรามันมองว่าเรื่องเหล้าเบียร์ มันผิดศีลธรรม ที่เค้าตั้งกำแพงภาษีสูง ๆ เพราะเค้ามองว่าพวกนี้เป็นสิ่งที่ผิดบาป เลยต้องตั้งให้มันเยอะ ๆๆๆ ซึ่งมันไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้องอะ ยิ่งตั้งสูง มันยิ่งไปตัดตอนรายย่อย มันไม่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ทำให้เกิดธุรกิจหน้าใหม่ ไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน สุดท้ายก็เกิดสภาวะผู้ขาด ในขณะที่ต่างประเทศเค้าตั้งภาษีให้มันพอดี อย่างเวียดนามเค้าคิดเป็นเรตเดียว จะทำเบียร์อะไร เรตภาษีก็มีเรตเดียว จบ ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยกล้าทำเบียร์ประหลาด ๆ 

ตูน: อย่างไต้หวันที่ผมเคยไปทำเบียร์ เค้าคิดอัตราภาษีตามแอลกอฮอล์อย่างเดียว คือแอลกอฮอลล์เท่าไหร่ เสียภาษีเท่านั้น พอออกแบบกฎหมายแบบนี้ คนทำเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำก็เลยค่อนข้างเยอะ คนทำเบียร์แอลกฮอล์สูงก็เลยน้อย ซึ่งอันนี้ก็เมคเซนส์ ถ้าคุณแคร์เรื่องสุขภาพ

บะหมี่: เรื่องบาป ศีลธรรม อีกอย่าง คือเราอยากให้คนเลิกเอาเรื่องศีลธรรมมาเป็นกรอบความคิดเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮล์ นี่เป็นเรื่องของพรบ. ควบคุมเครื่องดื่มโดยตรง คือคุณใช้ความหวังดี ใช้ความห่วงใยสุขภาพ ความเป็นคนดีมาอ้าง ก็เลยออกกฎหมายมาควบคุมอะไรเราเต็มไปหมด 

ตูน: เลิกผลักเราเป็นคนไม่ดีซักที เราก็เป็นคนปกติมาประกอบอาชีพสุจริต

บะหมี่: เราเสียภาษีด้วย

ตูน: เราเสียภาษีเยอะมากด้วย 

ตี้: ภาษีสรรพสามิตของเบียร์คือให้คุณูปการต่อหลายวงการมาก อุดหนุนผู้พิการ คนชรา กีฬา สสส. TPBS 

บะหมี่: อีกอย่างคือเราอยากให้คนทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถเลือกได้ว่าจะเอาภาษีไปอุดหนุนอะไร เราอยากเอาภาษีเราไปให้โรงพยาบาล 

ตูน: เรามีโปสเตอร์รณรงค์ด้านสุขภาพมากพอแล้ว ตั้งแต่ภาษีสุราส่งไปให้สสส. เนี่ย สิ่งที่เราได้คือ โฆษณา โปสเตอร์ วิดีโอ ในขณะที่ อุปกรณ์การแพทย์ การจราจร การสัญจรยังไม่ดีพอ อย่างช่วงโควิดเนี่ยเห็นชัด ๆ เลย ว่าอุปกรณ์การแพทย์มันขาด ในขณะที่เราเสียภาษีเพื่อสุขภาพเนี่ย เรากลับพบว่า ภาษีเราไม่ได้ไปถึงโรงพยาบาลเลย  ไปอยู่กับ งานประกวดการออกแบบโปสเตอร์ต้านโควิด 

ตี้: อย่างที่รัฐ Oregon สหรัฐอเมริกา เค้าเอาภาษีด้านเหล้าเบียร์ไปให้โรงพยาบาลหมดเลย 

ตูน: แล้วกลายเป็นว่า (ที่ไทย) ประชาชนก็ต้องมาบริจาคกันเอง ซ้ำซ้อนอีก พี่ตูนก็วิ่งตีนแตกไปดิ

ตี้: พอเราเอาความคิดด้านบาปบุญคุณโทษ ศีลธรรมมาใช้ มันทำให้เราไม่มองในมิติอื่น การจะมองโลก คุณต้องมองโลกด้วยสายตาที่ซับซ้อนมากกว่าการไปเบลมว่าไอ้นี่แม่งเลว ไอ้นี่แม่งชั่ว เราต้องมองมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ค่อยคิดถึง คือถ้ามันไม่ใช่วัฒนธรรม เหล้ามันไม่อยู่คู่โลกมาเป็นหมื่นปีหรอก ผมไปเชียงใหม่ ผมเจอเหล้าชุมชนเป็นสิบแบรนด์ ผมอะเมซิ่งมาก อันนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเลย ซึ่งมันมีคุณค่ามาก ถ้าเรามองในมิติของเศรษฐกิจ ถ้าคุณทำแบบญี่ปุ่น มีคราฟต์เบียร์ทุกตำบล ทุกจังหวัด คุณจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นหมื่นล้านแสนล้าน แต่เรากลับมามองด้วยสายตาบาปบุญคุณโทษอะ มันไม่เมคเซนส์

ไก่: อันนี้ผมเสริมได้เลย คือผมเป็นคนที่เริ่มดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างช้า เริ่มดื่มประมาณเรียนจบปริญญาตรี ก่อนหน้านั้นผมแม่งคิดว่าผมเป็นคนดีมาก (หัวเราะ) แบบเป็นคนที่สังคมกล่อมเกลามาว่า เอ้ย ไม่กินเหล้า ไม่กินเบียร์ เป็นคนฟินศีลธรรมมาก แต่พอเรียนจบปุ๊บผมตั้งใจไปเรียนต่อที่เยอรมัน อาผมก็บอกว่าให้ไปฝึกงานที่รีสอร์ทเค้าที่สมุย เราก็ โอเค ลองดู ไปฝึกเป็นบาร์เทนเดอร์ เราก็ไปยืนดู ตอนนั้นเรารู้จักแค่เหล้าดัง ๆ อย่าง Red Label, Black Label, Regency แต่พอวันแรกที่เราไปยืนตรงเชลฟ์ เราเห็นเหล้า เราเห็น spirit อะไรหลาย ๆ อย่าง แล้วมันมีเป็นร้อยอะ เราเคยได้ยินไม่กี่ยี่ห้อ แล้วเราก็ลองชิม ก็เลยรู้ว่ามันมีอะไรที่มากกว่านั้นอะ เป็นเรื่องทางการทำ cocktail แล้วพอเราไปเยอรมันมันก็เป็นอีกแบบนึงเลย หลังจากนั้นมาเราก็เริ่มกินแล้วเริ่มศึกษา แล้วก็ไม่เห็นจะรู้สึกว่าผมดูเป็นคนเลวอะไรขึ้นมา มันเป็นมิติทางเศรษฐกิจ หลาย ๆ อย่างมันสร้างมูลค่า ไม่ว่ามิติการท่องเที่ยว อย่างเรายังเคยตั้งใจไปทริปโรงเบียร์ที่ญี่ปุ่น (หัวเราะ) ตะลุยโรงเบียร์ แล้วโรงเบียร์เค้ามี brewery tour มันมีมิติอะไรเยอะมากในฐานะผู้ประกอบการ ผมเลยอยากจะให้มันมีเรื่องพวกนี้ในประเทศไทย

บะหมี่: ถามว่าเยอรมันได้เงินเท่าไหร่จาก Oktoberfest มีคนจากกี่ประเทศในโลกไปประเทศเค้าเพื่องานนี้ มันได้เงินจากการท่องเที่ยวด้วย

ตูน: เสริมเรื่องการควบคุม อย่างเยอรมันหรืออเมริกา ผมเข้าใจว่า ถ้าคุยกับเจ้าหน้าที่เค้าก็จะบอกว่า บริบทไม่เหมือนกัน แต่ถ้าดูจากข้อมูลจริง ๆ อะ พอมันเกิดความหลากหลายมากขึ้น คราฟต์เบียร์ของเมกากับเยอรมันมันโต มันทำให้ประเภทของเบียร์หลากหลายมากขึ้น อัตราการบริโภคเบียร์มันลดลง กราฟมันสวนทางกับความหลากหลายอะครับ มันเกิดการเรียนรู้ การเข้าใจว่าเราสามารถเลือกดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมได้ นี่เป็นตัวอย่างที่น่าจะเปรียบเทียบได้ว่า พอมันหลากหลายมากขึ้น คนก็จะเลือกดื่มอย่างพอดีเป็นอัตโนมัติ

ตี้: อย่างในอเมริกาตอนนี้ เปอร์เซนต์การผลิตคราฟต์เบียร์ตก เค้าหันไปทำ seltzer กันเยอะมาก 

บะหมี่: คือโซดาอัดแก๊ซ คล้าย ๆ RTD บ้านเรา เมืองนอกไม่มี ซึ่งมีแอลกอฮอล์เหมือนกันแต่เบา ๆ 

ตูน: เรียกว่าโซดามีแอลกอฮอล์ คล้าย ๆ ชูไฮ

ตี้: อีกอย่างที่ผมว่าสังคมเราขาดคือเราไม่ค่อยให้ความรู้อะ คือถ้าเป็นประเทศอื่นเค้าจะให้ความรู้กับผู้บริโภคไปว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทนี้เป็นยังไง ลักษณะเป็นยังไง คือให้ความรู้กับเด็กเลยนะ สังคมที่ดีมันต้องไม่ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีอะ 

ตูน: พรบ. นี้ มันทำให้เราไม่สามารถบรรจุความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ในชั้นเรียนได้ กลายเป็นว่า จะสอนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้คือต้องอย่างน้อยปี 4 เพื่อ make sure ว่านักเรียนอายุเกิน 20 ตรงนี้สมมุติผมโตมาในโรงเบียร์ อยากช่วยพ่อทำงาน ต้องไปเรียนต่างประเทศอย่างเดียว เพราะในไทยไม่มีวิชาด้านนี้โดยตรง มีแต่วิชาเลือก แล้วกว่าจะได้เรียนคือต้องปี 4 

บะหมี่: จริง ๆ มันเคยมีนะ 

ตูน: ผมเกิดทันรุ่นที่เค้าสอนหมักไวน์สัปปะรดตอนม.ปลาย เค้าเอาสัปปะรดมา คั้นน้ำ ใส่ยีสต์ ก็เลยได้ไวน์ออกมา 

ฝ้าย: หนูทำตอนป. 6 (หัวเราะ) โครงงานวิทยาศาสตร์ ทำไวน์กระเจี๊ยบ

บะหมี่: ซึ่งพอกฎหมายนี้ออกมาอะ อะไรแบบนี้มันหายไปเลย เพราะมันได้ทัศนคติมาว่า มันคือการมอมเมา มันยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ควรจะรู้เรื่องนี้

ฝ้าย: อย่างประเทศที่เจริญแล้วแบบญี่ปุ่น สัมผัสได้ชัดเจนสุดก็คือ เวลาเราไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น พวกโรงเบียร์เค้าจะเปิดมาเป็นทัศนศึกษา ให้จองเป็นรอบ ๆ เค้าจะมีเอกสารแจ้ง มีให้ชิมเบียร์ พอถึง session ที่ต้องชิมเบียร์ เค้าจะแจ้งเลยว่า ใครที่ขับรถมาเรามี soft drink ให้นะ ซึ่งประชาชนเค้ามันมีคุณภาพ เค้าก็จะไม่ดื่ม แล้วแต่ละโรงจะมีเอกสารที่จัดทำโดยบริษัทเค้า ซึ่งเป็นเอกสารสำหรับ educate มีแจกทั่วไป เราไปเจอเอกสารอันนี้ที่สถานีรถไฟแล้วเราก็หยิบมา มันเป็นใบปลิวที่ชื่อว่า รู้ทันเรื่องเหล้า ซึ่งเป้าหมายการทำแผ่นพับ เค้าให้เด็กประถมอ่านกับผู้ปกครอง แบบมีตัวฮิรางานะกำกับไว้ทุกตัวคันจิ ในหน้าสุดท้ายเค้าเขียนบอกเลยว่า อันนี้ถือไปให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟัง ซึ่งก็จะมีบอกว่า เหล้าคืออะไร คำภาษาญี่ปุ่นเค้าจะเรียกว่า โอซาเกะ ซึ่งรวมหมดเลย ทั้งเบียร์ เหล้า ไวน์ วิสกี้ ก็คือใช้คำเดียว เค้าอธิบายว่า โอซาเกะมีอะไรบ้าง ก็ออกมาเป็นเบียร์ รูปร่างเป็นยังไง เหล้า ไวน์ ฯลฯ ผลกระทบของพิษสุราเป็นยังไง ส่งผลยังไงต่อร่างกาย และร่างกายจะฟื้นฟูยังไง แล้วก็มีวิธีการปฏิเสธถ้ามีคนชวนไปดื่ม แล้วก็จะมีสถิติที่อ้างอิงว่า ปี ๆ นึงมีภัยอะไรบ้างจากเหล้า ผู้ปกครองควรดูแลลูกยังไงบ้าง แล้วก็มีสรุปผลว่า จริง ๆ แล้ว เด็กที่ดื่มเหล้าก่อนบรรลุนิติภาวะ มาจากผู้ปกครองน่ะแหละเป็นคนชวนดื่ม (หัวเราะ) คือเค้าก็บอกหมดเลย

บะหมี่: ถามว่าจริง ๆ สสส. พูดเรื่องนี้ไหม คือพูดนะ แต่ว่าไม่ครบถ้วน คือบิดเบือนตัวเลข สถิติ แล้วพูดด้วย attitude ที่ไม่ได้มองเหล้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปกติ แต่มองเหล้าเป็นผู้ร้ายของสังคม เพราะฉะนั้น content ที่สื่อสาร เรื่องที่เลือกมาสื่อสาร ช่องทางที่ไป มันจะไม่ได้เป็นแบบนี้ มันไม่เข้าหูอะ 

ตี้: สังคมอารยะมันควรเป็นแบบนี้อะ คือคุณควรให้ความรู้กับเด็ก อย่างเป็นกลาง แล้วไม่ต้องไปคิดแทนเค้า 

บะหมี่: วันนี้เราจะไปพูดขึ้นเวที (23 ตุลาคม ม็อบ #ปล่อยเพื่อนเรา ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ) เราคิดว่าธุรกิจเหล้าเบียร์มันสะท้อนสังคมไทยได้ดีมาก คือ ให้ทำนะ แต่ให้แบบมึงไม่ได้ทั้งหมดหรอก เพราะมึงเป็นคนไม่ดี ให้ทำนะ แต่ต้องควบคุมนะ ไม่งั้นมึงจะทำร้ายคนอื่น คือไม่มีเสรีภาพ ให้ทำแบบเจียมตัวหน่อยนะ แบบ อยากได้ประชาธิปไตยหรอ แต่เธอไม่มีความรู้นะ เดี๋ยวชั้นดูแลเธอเอง เหมือนกัน

ตูน: อยากกินวอดก้าเหรอ งั้นรอเป็นคนรวยก่อนสิ 

บะหมี่: อยากกินไวน์เหรอ ไวน์เนี่ย สส.​เค้ากินกัน เธอไม่มีปัญญาหรอก เธอก็กินเหล้าขาวไป นี่คือวิธีคิดเกี่ยวกับเหล้าเบียร์ที่ภาครัฐสะท้อนออกมา

ไก่: ผมว่ามันเหมือนคำหยาบอะ อย่างผมสอนลูก ผมจะไม่ค่อยระวังคำพูดหรอก ผมก็พูด แต่ผมไม่ได้บอกลูกว่า พูดไม่ได้นะ แต่บอกว่า เด็กเค้ายังไม่พูดกันเวลานี้ แล้วหนูโตขึ้น หนูค่อยไปดูว่ามันควรจะพูดไหม คือผมว่าสอนให้เค้ารู้ว่าคำหยาบมันพูดกับเพื่อนอะไรพูดได้ แต่ให้รู้ว่าไม่ใช่ว่าคุณไปสัมภาษณ์งานแล้วคุณไปด่าเค้า มันไม่ใช่ นี่คือวิธีคิดของเค้า คือคำหยาบมันมีจริงในสังคม มันควรให้รู้ แต่ไม่ใช่ไปห้ามอย่างเดียว ควรสอนให้รู้ว่ามันควรใช้เวลาไหน 

สุราปลดแอก

อย่างช่วงโควิดที่ห้ามจำหน่ายสุรา คิดเห็นอย่างไรกันบ้าง มีใครที่ประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการเลยไหม

บะหมี่: ถามว่าโควิดแพร่ในไทยเพราะอะไร สนามมวย (เน้นเสียง) มีแค่เคสเดียวที่ติดจากร้านเหล้าและติดเพราะว่าเพื่อนของเพื่อนติดมาแล้วก็ไม่รู้ซึ่งไม่ใช่สาเหตุหลักเลย และสิ่งที่เค้าทำคือโทษเหล้าเบียร์ ปิดไปก่อนสร้างความเสี่ยง

ตูน: คือต้องบอกว่าช่วงโควิด เราผู้ประกอบการเนี่ยถูกขอความร่วมมือให้ปิดร้านบ้างอะไรบ้าง เราก็ขอแค่จำหน่ายกลับบ้านได้ก็ยังดีแต่กลับถูกห้ามขายโดยเด็ดขาดทั้งที่จริง ๆ มันไม่ได้แก้ปัญหาโดยตรง แล้วเราจะอยู่ยังไง ทุกคนก็มีครอบครัวภาระแล้วเงินชดเชยมันก็ไม่ได้มีให้ถูกมั้ยครับ ถูกห้ามประกอบอาชีพแล้วซ้ำร้ายยังไม่พอในช่วงเวลาแบบนั้นยังโดนจับมาตรา 32 อีก

บะหมี่: คือโพสต์ออนไลน์ไง ขายของออนไลน์ ขายของลงเฟสบุ๊ค 

ตูน: คือช่วงนั้นน่ะเยอะเพราะว่าเราไม่สามารถให้คนมาดื่มที่ร้านได้ ทางร้านทุกร้านเค้าจึงต้องแจ้งมาว่าในช่องทางการจัดจำหน่ายเราสามารถเดลิเวอรี่ได้ ซึ่งไอ้พวกนี้มันโดนมาตรา 32 มันเลยเป็นจุดที่เราอยู่ไม่ได้แล้ว

บะหมี่: หลายร้านปิดนะคะ มีหลายร้านเลยที่ปิดตัวลงจากช่วงโควิด รายย่อยทั้งนั้นเลย ร้านเล็ก ๆ ร้านใหญ่ก็มี

ตูน: ยังไม่รวมพวกอาชีพที่ต้องตกงานอย่างเช่นบาร์เทนเดอร์หรือว่าซอมเมอลิเย่ เด็กนั่งดริงค์

ไก่: คือช่วงโควิดเราไม่ได้ต่อต้าน เรายินดีให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐเพราะเราเข้าใจถึงปัญหา บางทีเราก็ต้องยอมลด ๆ อะไรลงมาหน่อย เพียงแต่ว่าสิ่งที่เค้าทำเรามองว่ามันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโควิดเลย ผมว่าเราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ (เน้นเสียง) มันไม่ใช่นะครับ เรามาคุยกันทำวิธีอื่นไหม ไม่ใช่ว่ามาสั่งเรา นึกอะไรไม่ออกก็โทษเราเหมือนเราเป็นแพะตัวนึง เป็นคนเลวขายเหล้าขายเบียร์ มันตลกนิดนึงอะครับ

บะหมี่: รู้กันมั้ยว่าช่วงโควิดภาษีเหล้าเบียร์ลดไป 6-7,000 ล้าน 

ตี้: สรรพสามิตบ่นชิบหาย (หัวเราะ)

บะหมี่: เดือนแรกเนี่ยภาษีเหล้าลด 6,000 ล้าน เดือนที่สองภาษีเบียร์ลด

ตูน: ผมว่าบอกอย่างนี้ดีกว่า ไอ้ช่วงที่ห้ามขายน่ะมันลดไปประมาณ 99.5 เปอร์เซ็น ภาษีเบียร์นะครับ

ตี้: เงินหายไปจากระบบเท่าไหร่

บะหมี่: ใช่ เงินหายไปเยอะ (ลากเสียง)

ตี้: เดือดร้อนกันชิบหายเลยครับ (หัวเราะ)

บะหมี่: เหตุเกิดจากการออกกฎหมายห้ามขายโดยไม่รู้สี่รู้แปด

ตี้: ไม่สนว่าจะมีผลกระทบอะไร ไม่คิดไง

บะหมี่: ขอแค่ได้ห้าม

 

ตอนไปตั้งบูธรับรายชื่อ มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ได้เห็นอะไรบ้างจากประชาชนทั่วไปไหม มีความไม่เข้าใจอะไรไหม

บะหมี่: อะต้องให้คนนี้พูด (ชี้ไปทางตี้) น้าตี้คุยกับเด็กคุยกับคนมาลงชื่อเยอะมาก

ตูน: ชอบสาว ๆ (หัวเราะ)

ตี้: ก็ตอนแรกที่เราไปตั้งที่หอศิลป์เราไม่คิดว่าจะมีนักเรียนมาเยอะมาก ต้องยอมรับว่าตกใจ ตอนแรกก็ไม่ได้หวังอะไรเลยแล้วมันก็ไปมีกระแสในทวิตเตอร์ ในทวิตเตอร์เค้าบอกกันว่าไปลงแก้รัฐธรรมนูญแล้วอย่าลืมไปลงแก้เรื่องสุรานะเออ นักเรียนก็มากันเยอะ เป็นภาพที่ประหลาดดีคือมีเด็กใส่ชุดนักเรียนเดินมากัน 4-5 คน(หัวเราะ) บอก พี่หนูอยากลง (เน้นเสียง) บางคนก็หนูอายุยังไม่ถึง 18 เลยลงชื่อได้ไหม ก็เลยบอกไปถ้าใกล้ๆ 18 แล้วก็ลงได้ ที่ผมประหลาดใจมากคือเด็กส่วนใหญ่มีความรู้ เราอธิบายปุ๊บเด็กเข้าใจใน 5 นาที ขณะที่ราชการเนี่ยผมอธิบายมาครึ่งปีแม่งไม่มีใครรู้เรื่องสักคน แต่เด็กพวกนี้มีความหัวก้าวหน้า คือเราพยายามอธิบายว่าเราไม่ได้ต้องการให้คนมาดื่มเสรีนะ แต่เราต้องการแก้ไขปลดล็อคอะไรบางอย่างที่ไม่ให้เกิดสภาวะผูกขาด ไม่ให้รายย่อยตายอะ ผมอธิบายเนี่ยเด็กก็จะเข้าใจหมดเลย บางคนเป็นมุสลิมด้วยซ้ำ คือไม่ได้ดื่มนะ แต่ก็มาลงชื่อเพราะเค้าไม่อยากเห็นกฎหมายที่เอาเปรียบคนตัวเล็กตัวน้อยแบบนี้ นักศึกษาทุกคนเก็ทหมด วันนั้นคนมาลงเป็นพันคนอะจนตกใจมาก

บะหมี่: ตอนม็อบ 19 กันยายน (ที่สนามหลวง) คนมาลงเยอะสามสี่พันคน ฝนตกกางร่มยืนรอ มัน sync กับเค้าในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ มัน sync กับเค้าในเรื่องของเผด็จการ(ที่กดขี่)รายย่อย

ตี้: ใช่ เพราะเราก็จะบอกว่า มันเป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือคุณไม่สามารถพูดอะไรได้เลย มันผิดปกติไปไหม มันไม่ใช่สภาวะที่ถูกต้องแล้วแหละ เรื่องของโครงสร้างกฎหมายนี้ทำให้เกิดการผูกขาดโดยไม่รู้ตัว คนที่จะอยู่รอดมีแต่นายทุนเท่านั้น แล้วคนที่ไม่มีต้นทุนก็ไม่รอด ผู้ประกอบการรายเล็กตายหมดมันถูกต้องไหม เราอธิบายไปเด็กเข้าใจหมดเลยครับ

บะหมี่: แต่ถามว่ามีคนไม่เข้าใจ หาว่าเราเรียกร้องสิทธิในการเมา มี(เน้นเสียง)

ตูน, ไก่, ตี้: มี (พร้อมกัน)

บะหมี่: เราเพิ่งคุยกับเพื่อน เพื่อนบอกมีน้องไม่เห็นด้วยเพราะเราเรียกร้องสิทธิในการเมา ซึ่งเราบอกว่าถ้าคุณมาศึกษาโครงสร้างธุรกิจนี้ในประเทศจริง ๆ คุณศึกษากฎหมายจริง ๆ หรือคุณมานั่งคุยกับเราแบบจริง ๆ คุณจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องของสิทธิในการเมา มันคือสิทธิของการประกอบอาชีพเหมือนคนปกติ คือถ้าคุณไปศึกษาประชาธิปไตยในโลกนี้แล้วคุณมาด่าประเทศไทย คุณต้องไปศึกษาธุรกิจเหล้าเบียร์ในโลกนี้ด้วยแล้วค่อยมาด่าพวกเรา

ตูน: ผมว่าทุกคนมองว่าเราไม่สามารถอยู่แบบนี้ได้อีกต่อไปแล้ว ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องเปลี่ยนอาชีพอยู่ดี ตายกันทั้งวงการอยู่ดี เพราะฉะนั้นตอนนี้ทุกคนเลยร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมากครับ อีกจุดนึงที่น่าสนใจคืออาสาสมัคร เราได้ความช่วยเหลือเยอะมาก องค์กรสุราปลดแอกเนี่ยคืออาสาสมัครกันหมดไม่มีใครได้เงินเดือน ขับเคลื่อนกันด้วยใจล้วน ๆ อยากขอบคุณอาสาสมัครทุกคนด้วยครับ 

ไก่: มันเป็นเรื่องที่ผิดปกติอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าภาครัฐเค้าไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา พอเค้าไม่มองเป็นปัญหาเนี่ยเค้าก็ไม่แก้ปัญหา

บะหมี่: ไม่ทำอะไรเลย

ไก่: เราก็เลยต้องออกมาแก้ปัญหาโดยใช้หลักประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักการที่เราทำได้

บะหมี่: เราเชื่อว่ามันไม่มีทางเปลี่ยนได้อย่างใน ideal ที่เราต้องการมันต้องเปลี่ยนประเทศก่อน สุดท้ายแล้วประชาธิปไตยที่น้อง ๆ หรือทุกคนเรียกร้องมันต้องเกิดขึ้นจริง ๆ ก่อน สิ่งที่เราเรียกร้องเรื่อง สุราปลดแอก มันถึงจะเป็นไปแบบนั้น เราก็เลยไปเป็นแนวร่วม (หัวเราะ) 

ตูน: มันเป็นคู่ขนาน

ตี้: ผมคิดว่าคนที่ชอบคราฟเบียร์ก็ต้องมีหัวคิดชอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะเราสนับสนุนความสร้างสรรค์

ไก่: สนับสนุนความหลากหลาย

บะหมี่: คือการจะอยู่ในวงการนี้การมีตัวเลือกมันไม่ง่ายนะ ถ้าคุณอยากกินเบียร์อยากเมาคุณเข้าเซเว่นซื้อคุณก็เมาได้แล้ว แต่คนกินคราฟเบียร์คุณต้องไปตามหา ต้องศึกษา ต้องสู้ราคา ต้องเลือก คือมันเป็นโจทย์ที่ยากแต่ถามว่าทำไมคนถึงยังกินยังทำ มันคือความสุขความสุนทรีย์ เรา appreciate ในการจ่ายเงินแพง ๆ แล้วดูฉลากสวย

ตูน: มันคือแบบคนบินข้ามโลกไปดูคอนเสิร์ตนั่นแหละ

ตูน ไก่ ตี้ บะหมี่ สุราปลดแอก

ตอนนี้ได้รับรายชื่อครบหรือยัง ต่อจากนี้จะตั้งรับรายชื่ออีกเมื่อไหร่

บะหมี่: ประมาณ 8,000 (ข้อมูล ณ​วันที่ 23 ตุลาคม ปัจจุบันได้รายชื่อแล้ว 10,000+ ชื่อ)

ตี้: 8,200 ยังไม่รวมเชียงใหม่ ตีเอาก็ 9,000

บะหมี่: ซึ่งต้องการหมื่นนึง แต่ว่าเราจะเอาเผื่อๆ

ตี้: อยากได้ซักหมื่นสองเพื่อความชัวร์ เผื่อว่าโดนคัดทิ้ง

บะหมี่: เผื่อตกหล่นไรงี้

Nifty: เดี๋ยวจะมีตั้งบูธอีกเร็วๆนี้ไหม

บะหมี่: หาช่องทางอยู่ จริง ๆ ตอนแรกเราจะไปตั้ง 14 ตุลาคม แต่ว่าแบบสถานการณ์สุ่มเสี่ยง

ตูน: มันไม่ได้สุ่มเสี่ยงมากแต่มันเป็นลักษณะการมูฟของม็อบ คือต้องเอาปรินเตอร์ผูกตัว (หัวเราะ)

บะหมี่: ตอนนี้เราจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดก่อนว่ามีเท่าไหร่แล้วค่อยวางแผนอีกทีนึง อาจจะให้ร้านเบียร์ช่วยเป็นแนวร่วมในการรับลงชื่อเพิ่มเติม ถ้ามีที่ไหนที่ไปตั้งได้ก็อาจจะไปอีกแต่ยังไม่ได้สรุปกัน

ตี้: เหลืออีก 3,000 รายชื่อจริง ๆ มันก็ไม่ยากและก็ไม่ง่าย

ตอนนี้เป้าหมายสำเร็จไปประมาณไหนแล้ว

บะหมี่: ตอนนี้ยื่นตัวร่างกฎหมายกับผู้ริเริ่ม 20 คน แต่เราจะปรับร่างเพิ่มเติมเพราะทางสภาส่งกลับมาให้แก้ไขบางส่วน แต่ด้วยหลักการคือรับแล้ว แต่แก้ไขเนื้อหาบางส่วน ต้องเพิ่มบันทึกตรงนั้น รายละเอียดตรงนี้ รายชื่อหมื่นคนคือเงื่อนไขขั้นต่ำในการขอแก้ พรบ.สุรา เพื่อเตรียมเข้าวาระ แต่ก็ต้องต่อคิวอีกกี่วาระก็ไม่รู้

ตี้: ผมมองว่าการที่เรามารณรงค์หาหมื่นรายชื่อ สิ่งที่ได้ประโยชน์คือเราได้ส่งต่อความรู้ให้กับคนจำนวนมาก ได้อธิบายให้เด็กให้คนรุ่นใหม่รู้กฎหมายนี้แม่งผิดปกติเว้ย มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังใช้ประโยชน์หาประโยชน์เข้าตัวอยู่ เป็นสิ่งที่ผมชอบ ทำให้คนด่า สคอ. เนี่ยผมชอบ (หัวเราะ)

ตูน: จำนวนรายชื่อเนี่ยเรียกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ แต่ว่าในขั้นตอนเรียกว่ายังอยู่ในก้าวแรกไม่เต็มก้าว ถ้าครบหมื่นรายชื่อจะนับว่าก้าวแรกเต็มก้าวแล้วเราจะต้องการอีกสามก้าวคือวาระที่หนึ่ง วาระที่สอง วาระที่สามในสภา ตรงนี้ต้องติดตามกันอย่างเต็มที่พอเข้าสภาไปเราก็ต้องไปชี้แจงทุกคนเพื่อให้ สส. ที่เป็นผู้แทนของประชาชนเข้าใจว่ากฎหมายเรามันเกี่ยวกับประชาชนยังไง เค้าควรจะเห็นด้วยเพราะอะไร

บะหมี่: กลุ่มสุราชุมชนหรือว่ากลุ่มสุราไทย ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เค้าทำเรื่องกฎหมายนี้ เค้าทำมาเป็นสิบปีแล้วตั้งแต่ยุคทำเหล้าเถื่อน คือสู้กันมานานมาก แต่ว่าก้าวหน้าเร็วที่สุดแล้วในช่วงนี้เทียบกับสิบปีที่สู้มากับกฎหมายหลาย ๆ ตัว เพราะประชาชนได้โดนกดขี่กันอย่างถ้วนหน้าและเป็นปึกแผ่นแล้ว

ทำไมวัฒนธรรมยาดอง เหล้าป่า สาโท ถึงต้องโดนแบน

ตูน: ตรงนี้คือการทำลายความหลากหลายทำลายวัฒนธรรม เรียกว่าเผด็จการทางสุขภาพก็ได้ คือเค้าคิดว่าคุณมีหลากหลายแล้วไง มันเป็นภัยต่อสุขภาพ ไม่ได้มาตรฐาน เห้ยเอาออกไป ๆ ตรงนี้พอไปดูจริง ๆ สุราชุมชนมันเรียกเป็นนวัตกรรมตั้งแต่โบราณ อย่างการทำสาโทเนี่ยไม่ได้ใช้ไฟสักวัตต์เดียวเลยนะ มหัศจรรย์มาก มันคือการต้มเบียร์โบราณที่ไม่ต้องใช้ความร้อนเลย

ตี้: อุเนี่ยผมชอบมากเลย

บะหมี่: อุคือเหล้าไหใช่ปะ มีลูกแป้งอยู่ข้างในเติมน้ำเข้าไปกินได้เรื่อย ๆ

ตี้: เหมือนเป็นหัวเชื้อเติมน้ำเข้าไปให้มันละลาย แม่งสุดยอดจริง

ไก่: บางคนเติมน้ำบางคนเติมสไปรท์เติมอะไรได้เยอะเลย เอาเบียร์ออนท็อปก็มี (หัวเราะ)

ตูน: แล้วยาดองเนี่ยทำไมถึงโดนแบน ทั้งที่หลายอย่างมันเป็นยาเป็นสูตรโบราณเป็นแพทย์แผนโบราณ มันถูกแบนเพราะว่าเค้ากลัวการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ กลัวเหล้าเถื่อน เช่นคุณขายยาดอง คุณเอาเหล้ามาจากไหน สมมติซื้อเหล้าขาวมาใส่ แต่เค้ากลัวว่าจะเอาเหล้าเถื่อนมาใส่ แล้วทีนี้แทนที่จะออกมาตราการให้คนขายเอาเหล้ามาชี้แจงว่าซื้อเหล้ามากี่ขวด เสียภาษีถูกต้องแล้วทำยาดองได้กี่โหล กลายเป็นว่าเห้ยเดี๋ยวมึงโกงเอา ออกให้หมด

ไก่: คือผมว่าเค้าขี้เกียจครับพูดกันตรง ๆ พอเค้าขี้เกียจเค้าก็ไม่ศึกษาทำความเข้าใจ แล้วก็สั่งห้ามดีกว่าง่ายดี แบบนี้คือแนวคิดของเค้า

ตูน: อย่างเหล้าขาวเนี่ยถ้าได้เอามาบ่มต่อ มันจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มสรรพคุณเพิ่มรสชาติเพิ่มความสุนทรีย์อะไรก็ว่าไป พอไปตัดตอนตรงนี้มันทำให้คามหลากหลายหายไป กลายเป็นว่าชุมชนต้องทำแต่เหล้าขาว สูตรทั้งหลายสมุนไพรทั้งหลายที่ส่งต่อกันมาก็ค่อย ๆ หายไป แต่ก็ยังดีที่มีคนพยายามรวบรวมอยู่

ถ้าเราเรียกร้องสำเร็จเหล้าพวกนี้จะมีสิทธิ์กลับมามั้ย

ตูน: ก็ควรจะมีครับ เรายินดีเรียกร้องประเด็นอย่างนี้อยู่แล้ว อยากให้ประเทศไทยมีวิสกี้ดี ๆ เป็นที่ภูมิใจหรือมีผลิตภัณฑ์เป็นเหล้าประจำชาติแบบสาเก ที่คุณมาแล้วคุณต้องซื้อกลับไปให้ได้

ไก่: มันมีที่เค้ายกตัวอย่างเรื่องเหล้าอาวาโมริที่เอาข้าวไทยไปทำ เอาไปใส่ถังหมักแล้วเอากลับมาขายในราคาที่สูงให้คนไทยกิน

ตี้: เหล้าอาวาโมรินี่ไม่เคยใช้ข้าวของประเทศอื่นนะ ใช้ข้าวของประเทศไทยเท่านั้น

ตูน: ที่น่ารักคือถ้าลูกเพิ่งเกิดพ่อก็จะซื้อให้ลูกฝากโรงเหล้าไว้ พออายุ 20 ค่อยมาเอา ซื้อไว้เพื่อเฉลิมฉลองให้ลูกแต่ยังไม่ให้กินตอนนี้นะ อายุถึงค่อยมากิน

ตี้: ตลกร้ายที่ประเทศเรามีวัตถุดิบอยู่ในเกรดเอมากติดอันดับต้น ๆ ของโลกแต่ไม่สามารถเอามาเป็นผลิตภัณฑ์ของเราเองได้ เราจะเห็นว่ามีหลาย ๆ ประเทศในยุโรปหรืออเมริกามาซื้อกาแฟที่ เชียงใหม่ เชียงราย เพื่อเอาไปทำเบียร์กาแฟของเค้า ข้าวหอมมะลิก็เอาไปทำเบียร์ได้แต่คนไทยกลับไม่มีสิทธิทำ

บะหมี่: ราชการไทยไม่ได้มองเหล้าเป็นวัฒนธรรม อาจจะด้วยการอัดโฆษณา จน เครียด กินเหล้า หรือเปล่าก็ไม่รู้ เค้ามองกันแยกส่วน สรรพสามิตก็ผลักดันเรื่องนึง สาธารณะสุขก็ผลักดันอีกเรื่องแต่มันไม่มีคนกลางที่เข้าใจภาพรวมและมีอำนาจในการบูรณาการ เคยจัดเสวนา ททท. ออกมาพูดด้วย เค้าเชียร์เหล้าชุมชนมาก ว่ามันสร้างผลประโยชน์ทำให้คนอยากมาเที่ยว ดีต่อการท่องเที่ยวมาก แต่ถามว่าเค้ามีอำนาจไปทำอะไรกับหน่วยงานอื่น ไม่มี มันแตกแยกไปหมดเลย

สัมภาษณ์ สุราปลดแอก ihatenifty

หลาย ๆ คนน่าจะเคยไปต้มเบียร์ต่างประเทศ มีอะไรอยากเล่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต่างประเทศบ้าง

ตูน: วัฒนธรรมการดื่มเนี่ยมันมีหลายแบบนะ อย่างญี่ปุ่นเนี่ยแม่งเมานอนกันเกลื่อนถนนไปหมด ทำงานเต็มที่ดื่มเต็มที่ อาจจะด้วยความปลอดภัยหรืออะไรก็แล้วแต่เค้าสามารถนอนกลางถนนได้ แล้วตื่นมาทำงานต่อตอนเช้าก็ว่าไป มันก็จะมีกฎหมายที่ห้ามเมาแล้วปั่นจักรยาน ตอนอยู่ญี่ปุ่นผมปั่นจักรยานเพราะแท็กซี่มันแพง พอมาเจอกฎหมายเมาแล้วปั่นปรับล้านเยนงี้แบบ ทำไงดีวะ มันก็มีการควบคุมในแบบของเค้าเลยเป็นเหตุผลให้คนนอนข้างถนนเพราะรถไฟปิดแล้วแท็กซี่ก็แพง ปั่นจักรยานก็ไม่ได้ เดินกลับก็ไม่ไหวก็นอนนี่แม่งเลยละกัน ส่วนอเมริกาจะควบคุมอีกแบบที่เค้าเรียกว่าควบคุมที่ร้าน ทางร้านต้องมีวิจารณญาณในการเสิร์ฟเหล้า ถ้าเห็นคนเมาห้ามเสิร์ฟ สามารถปฏิเสธการให้บริการได้ จำนวนคนในร้านก็อีกเรื่อง อย่างบ้านเราเคยมีเหตุใหญ่ ๆ อย่างซานติก้าผับที่ไฟไหม้แล้วคนหนีไม่ทัน อเมริกาจะต้องมีใบอนุญาต เช่นร้านนี้คุณได้ใบอนุญาต 100 คน ถ้าเกินแล้วมีคนแจ้งอาจโดนระงับใบอนุญาต หรือคุณขายให้คนไปเมาเกิดอุบัติเหตุจะมีคนมาสอบสวนว่าคุณมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุไหม ถ้ามีคุณก็ต้องโดนด้วย จะมีขอบเขตชัดเจน ในหนึ่งร้านจะมีใบอนุญาตหลายอย่าง สมมุติว่ามีใบอนุญาตขายในร้านแต่นอกร้านห้ามดื่มเลยนะ ถือว่าออกนอกพื้นที่ละเมิดใบอนุญาต ถ้าคุณอยากได้ใบอนุญาตด้านนอกคุณจะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเพราะอาจจะมีการสร้างมลภาวะอะไรก็ว่าไป ผมมองว่ามันเริ่มต้นง่าย ในอเมริกาคุณอยากทำเบียร์ แน่นอนคุณทำได้แต่มันจะมีกฎระเบียบต่าง ๆ เข้ามาประกอบ

บะหมี่: วัฒนธรรมนึงเมืองนอกที่มีแล้วเค้าอยู่รอด คือเค้าจ่ายเงินแล้วไม่ได้แปลว่าจบ แต่ไทยจ่ายแล้วจบ แล้วคนไทยไม่มีวัฒนธรรมในการรับผิดชอบเรื่องนี้ ก็ต่างกันมากแล้ว

ตี้: มันเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน ผมอยากให้มองว่าคุณไม่ต้องมาห้ามผู้บริโภคหรอก ไปทำกฎหมายให้มันเคร่งครัด เช่น เมาแล้วขับถอนใบขับขี่ตลอดชีวิต ปรับแม่งซักล้านนึง (เน้นเสียง) ถ้าร้านไปขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ถอนไปเลยไม่ต้องขายอีกเลย 

ตูน: อเมริกาหน้าแก่แค่ไหนเวลาไปซื้อเหล้าก็ต้องตรวจบัตร แล้วทำไมบ้านเราไม่ตรวจบัตรล่ะ เราก็ยินดีให้เค้าตรวจนะ

ตี้: เราก็ไม่ได้ว่าอะไรรู้สึกเป็นเรื่องปกติมาก คือคุณไม่ไปเคร่งครัดกฎหมายแวดล้อมอื่นเพื่อให้คนเกิดสภาวะที่เกรงกลัวกฎหมาย แต่มาเคร่งครัดในเรื่องที่มันไม่ควรเคร่งครัด

บะหมี่: วันที่ไปเสวนาที่เล่าให้ฟังอะ มีคนนึงเค้าเสนอว่า สสส. เอาภาษีเหล้าเบียร์ไปเนี่ย ทำไมคุณไม่ตั้งคนไปกำกับด่านให้ตำรวจไม่เอาเงินยัด คุณไม่ต้องมาตั้งเครือข่ายทำโปสเตอร์หรอก คุณเอาเงินไปจ่ายค่าแรงคน ตั้งหน่วยงาน ตั้งคนไปคุมด่านเพื่อให้ด่านไม่รับเงินใต้โต๊ะ วิธีการแบบนี้ทำไมเค้าคิดกันไม่ได้วะ

ไก่: จริง ๆ แล้วถ้าเค้าคิดกันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร พวกกฎหมายมันต้องมาจากหลาย ๆ ด้านหลาย ๆ ส่วนอย่างน้อยขอให้มาคุยให้ขอความร่วมมือจากพวกเรา อย่างเรามองก่อนว่าเหล้าเบียร์เป็นสินค้าควบคุมซึ่งเราเห็นด้วยนะ ไม่ใช่ว่าเราจะแบบเสรีไปเลยเพราะมันมีมิติสองด้าน แต่ทีนี้คุณไปเอาด้านอะไรของคุณก็ไม่รู้แล้วก็มาบังคับใช้มากดเรา คุณควรจะถามเราก่อนว่ามีวิธีการแค่ไหน อย่างผมในฐานะผู้ประกอบการร้านค้า สมมุติว่าถ้ามีกฎหมายที่ปฏิเสธการเสิร์ฟเหล้าเบียร์อย่างจริงจัง แล้วมันคุ้มครองสิทธิ์ของเจ้าของร้าน แต่ตอนนี้ถ้าผมไปบอกว่าไม่ขายเหล้าคุณแล้วถ้าลูกค้าฟ้องผมล่ะ ก็ต้องไปสู้กันอีกซึ่งเราก็ไม่กล้าเสี่ยง แต่ถ้ามีวิธีการจริงจัง มีกฎหมายว่ามีสิทธิ์ปฏิเสธลูกค้าที่เมาได้ คุ้มครองร้านคุ้มครองเรา เรายินดี ขอแค่ว่ามาคุยกันเท่านั้นเอง เราเข้าใจว่าเป็นสินค้าที่ต้องควบคุม 

ตี้: พวกเราไม่เคยคิดว่าจะต้องเละเทะเลย เรื่องควบคุมเนี่ยยินดีให้ความร่วมมือ แต่ไม่ใช่ว่ามาห้าม ๆๆๆๆ โดยไม่ถามอะไรเราเลย มันไม่แฟร์

ไก่: มีการลงโทษชัดเจนตามกฎหมายเรายินดี สมมติว่ามีงานเบียร์เฟสติวัลนึงมันมีอยู่แล้วคนเมาเลอะเทอะเละเทะ แต่มันกี่เปอร์เซ็นต์ของงานของคน สมมติคนเป็นหมื่นแต่มีสองคนตีกัน คุณก็ไปลงโทษสองคนนี้ให้มันชัดเจนมันมีกฎระเบียบ แต่ไม่ใช่มาบอกว่าเหล้าเบียร์ไม่ดีเพราะจัดงาน ไม่ตลกอะ มันไม่เมคเซนส์

คิดเห็นอย่างไรที่คอนเสิร์ตส่วนมากในไทยต้องไปผูกกับแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหญ่ ๆ

บะหมี่: เงินเค้าเยอะ (หัวเราะ)

ตูน: เรื่องของเรื่องคือเงินเค้าเยอะ เค้าคือกลุ่มธุรกิจที่แทบจะผูกขาดในประเทศไทย

บะหมี่: ถ้าเกิดว่ามีแบรนด์อย่างอื่นเช่นเสื้อผ้า รถยนต์ ต่าง ๆ มาสนับสนุนศิลปินสนับสนุนคอนเสิร์ตเค้าเอาอยู่แล้ว แต่ว่ามันไม่มี มันน้อย อาจจะไม่รู้สึกว่าได้พื้นที่สื่อตรงนั้น อาจจะไม่เข้ากับตัวโปรดักของเค้า 

ตูน: ผมมองว่ามันเป็นการมาร์เก็ตติ้งของตลาดมูลค่าประมาณซักสามแสนล้าน

ไก่: เงินเหลืออะครับ (หัวเราะ) 

ตูน: ตลาดเครื่องดื่มเนี่ยประมาณ 500,000 ล้านมั้งจากที่ประชุมกันคราวก่อน 300,000 ล้านเนี่ยคือสุรา อีก 200,000 ล้านเป็นเบียร์ ฉะนั้นค่ามาร์เก็ตติ้งตรงนี้แม่งเพียงพอที่จะให้ศิลปินทั้งประเทศมีงานเล่นได้ อีกเรื่องคือดนตรีกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันมีความเกี่ยวเนื่องกันค่อนข้างเยอะในเรื่องความสุนทรีสำหรับดนตรีบางประเภท เคยจัดคอนเสิร์ตวงที่มีฐานนิยมเป็นเด็ก ๆ ยกตัวอย่าง Whal & Dolph จัดในร้านเหล้า แต่คนไม่กินเหล้านะครับ กลุ่มที่อายุถึงก็ไม่ซื้อด้วย คือมาฟังเพลงจริง ๆ แต่พอเป็น Guns & Roses เงี้ย มันต้องมีอะ 

บะหมี่: เราบอกอย่างงี้ มันต้องมีกลุ่มเป้าหมายด้วย อย่างไปขายเบียร์คราฟต์ในงานดนตรีร็อคก็ไม่ใช่ขายได้นะ เพราะเค้ากินสิงห์ เค้าไม่ได้อยากดื่มด่ำรสชาติของเครื่องดื่ม แต่ถ้าคุณจัดเป็นแบบงานดนตรีในสวน มีอาหารอร่อย ๆ มีคราฟเบียร์อร่อย ๆ นั่งฟังชิว ๆ เงี้ย ขายได้ มันเป็นเรื่องของกลุ่มเป้าหมายด้วย

ตูน: ผมจะบอกว่าคราฟเบียร์อาจต้องการการนั่งนิดนึง (หัวเราะ) ผมเคยถือคราฟเบียร์อยู่ในวงมอชพิทนี่ใช้ชีวิตยากนะ

บะหมี่: เปลืองเบียร์ ชนทีก็ร่วง

ตูน: มันเกื้อหนุนกันแหละผมว่ามันเป็นเรื่องปกติที่บริษัทจะซัพพอร์ทในเรื่องดนตรี ศิลปะ หรือกีฬาอะไร มันเรื่องธรรมดามากไม่ควรไปห้ามเค้าด้วยซ้ำเอาจริงๆ

บะหมี่: เราเป็นรายย่อยก็จริงแต่เราไม่ได้มีปัญหากับการที่รายใหญ่สนับสนุนคอนเสิร์ตนะ ถ้าเราทำได้เราก็ทำ ถ้าเราไม่ไหวก็ให้เค้าทำไป เราไปคอนเสิร์ตเราก็มีเบียร์กิน

ตูน: เอาง่าย ๆ ผมก็เป็นนักดนตรี ผมเคยโดนคนขอสปอนเซอร์นะแบบพี่ช่วยสปอนงานผมหน่อย ผมก็เข้าใจน้องอย่างมากเลยแต่พี่ก็ไม่มีเหมือนกัน คือบริจาคเลือดได้มั้ย (หัวเราะ)

รู้มาว่าพวกแบรนด์สุราใหญ่ ๆ ใช้วิธีหนีไปเปิดเพจต่างประเทศแล้วก็ไม่โดนข้อกฎหมายอะไรเลย ชาวคราฟต์เบียร์รับมือกับกฎหมายนี้ยังไง

บะหมี่: จริง ๆ ทุกเวย์ที่เค้าหลีกได้เราก็อยากทำอย่างนั้นนะ แต่บางเวย์เราไม่มีเงินอะ อย่างเราเนี่ยทำเว็บไซต์ขายคราฟต์ไทย กฎหมายออนไลน์ออกมาละ ถ้าเกิดเราไปจดบริษัทต่างประเทศแบบมีเพื่อนมีฝูง จดย้าย vpn ไปตรงนู้น อะเรารอดกฎหมายละ เอ๊ะ แล้วใช้เงินเท่าไหร่วะ ถ้ามันไม่แพงเราทำนะเพื่อให้เรารอด แต่ถ้าเกิดมันแพงกว่ามันไม่คุ้มหนักกว่ามันยากกว่า ทุกอย่างที่เค้าทำแล้วมันรอดก็ทำแหละ

ตูน: ไอ้ความไม่แน่นอนตรงนี้มันเป็นปัญหาเรื่องการลงทุนด้วย สมมติว่าเราลงทุนไปปุ๊บ ปีหน้าแม่งออกกฎหมายใหม่มาอีก ถ้ามันมีการห้ามเว็บไซต์สุราแต่แรก ผมเชื่อว่าคุณบะหมี่ก็คงไม่เปิดเว็บไซต์ขาย แต่พอไม่มีก็ลงทุนไปแล้วทำงานเป็นบริษัทไปแล้ว แล้วทีนี้ออกอันใหม่มาเรื่อย ๆ แล้วจะทำยังไงล่ะ

บะหมี่: อย่างที่บอกว่าเจ้าใหญ่เค้ามีเงินเค้าก็ทำทุกอย่างแหละ ถามว่าเป็นความผิดเค้ามั้ยที่เค้าจะดิ้นหนีตาย ไม่ผิดหรอก เพียงแต่เราทำแบบเค้าไม่ไหว ออกกฎหมายมาปุ๊บเราตายก่อน คนที่เค้าออกกฎหมายเค้าชอบพูดว่าเค้าป้องกันรายใหญ่ เลยเห็นใจรายย่อย เป็นห่วงพวกเราไม่อยากให้พวกนั้นเอาเปรียบ แต่คุณออกกฎหมายมาเอื้อพวกแม่งหมดเลย ถามว่ารายใหญ่ผิดมั้ยก็ไม่ผิด

ตูน: เพราะว่าผลประโยชน์ของบริษัทสูงสุดคือกำไรสูงสุดอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าผมมีบริษัทแบบนั้นผมก็อาจจะทำแบบนั้นถูกมั้ย แต่ว่าคนที่จะทำให้ความเท่าเทียมเข้าถึงกันคือภาครัฐ ภาครัฐต้องช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย

อยากฝากอะไรถึงผู้บังคับใช้กฎหมายที่ทีม สุราปลดแอก ไปยื่นหนังสือ

บะหมี่: มาคุยกับเราเยอะ ๆ ขอแค่เปิดใจอยากจะแก้ไขปัญหากับเราก่อน คือถ้าเค้าทำงานร่วมกับเราแล้วอยากได้ภาษีจากเราแบ่งไปให้เค้าเราก็ทำได้นะ ตอนนี้ภาษีสุราแบ่งไปหลายที่เหลือเกิน อยากจะเอาซักหน่อยนึงไปให้ สคอ. ก็ทำได้นะ แต่คุณต้องรับใช้เราดิ ไม่ใช่รับใช้ตัวเอง

ตูน: อยากฝากว่าอยากให้มองผู้ประกอบการสุราหรือว่าประชาชนที่เกี่ยวข้องเป็นประชาชนบ้าง ในการร่างกฎหมายหลาย ๆ ฉบับของพวกคุณเนี่ยมันเกิดจากการเอาเครือข่ายด้านสุขภาพของพวกคุณออกมาเรียกร้อง แล้วคุณก็เอาข้อเรียกร้องของเค้าไปทำ ขณะนี้เราออกมากันเป็นหมื่นอะพูดตรง ๆ นับรายก็ชื่อ 8,000 นับอะไรที่ผ่านมาคนเห็นด้วยเยอะมาก คุณจะไม่ฟังเสียงของประชาชนเหรอ ถ้าคุณรับฟังเสียงของประชาชน กฎหมายก็จะซ้อนกับความต้องการของประชาชน แล้วตรงนั้นเราจะอยู่กันได้

ไก่: ก็อย่ามองเราเป็นภาระ ควรจะมองเราเป็นประชาชนที่คุณต้องบริการ เพราะพวกคุณคือข้าราชการ มาคุยกับเราแค่นั้นเองครับ เราไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย เราขอแค่คุยเพื่อหาโซลูชั่นที่ดีที่สุดที่จะอยู่ร่วมกันได้ทุกคนทุกฝ่ายแล้วเดินหน้ากัน ผมเชื่อว่ากฎหมายต้องออกมาจากทุก ๆ คนเป็นผลประโยชน์สูงสุดของแต่ละที่ ซึ่งเกิดจากการพูดคุยเจรจาแล้วหาข้อตกลงกัน แต่ทีนี้เค้าปิดกั้นเค้าอาจจะมองว่าถ้าเราไปเสนอเค้าอาจจะต้องทำงานหนักขึ้น มันกลายเป็นว่าเค้าก็ไม่ฟังคิดเอาเอง พอไม่ได้คุยมันก็แก้ปัญหาไม่ได้

ตี้: สำหรับผมคงเหมือนของที่ทุกคนพูดคืออยากให้ฟังเสียงของประชาชนบ้าง เราก็คงเห็นกระแสทางสังคมว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง อยากให้ทางผู้ที่มีอำนาจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับว่ากฎหมายนี้มันมีปัญหาจริง ๆ และแก้ไขให้เราพบกันครึ่งทางได้แค่นั้นเอง

ฝากอะไรถึงคนที่ยังมองเหล้าเบียร์เป็นเรื่องผิดบาปผิดศีลธรรม

ตี้: (หัวเราะ)

บะหมี่: ดักดาน (เน้นเสียง) ทำงานให้ สสส. มากไปใช่มั้ยมึง (หัวเราะ) ก็ไม่เป็นไร มันก็เป็นสิ่งที่มันไม่ดีจริง ๆ ในหลายมุม แต่คุณก็ต้องมองในมุมที่มันสร้างประโยชน์ให้กับโลกกับประเทศชาติด้วย

ตูน: เรื่องผิดบาปผิดศีลเนี่ยไม่ต้องลากไปเรื่องนั้นก็ได้ เพราะเคยมีคนมาเถียงว่าสุราไม่ได้บาป การเมาต่างหากที่บาป

บะหมี่: ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวสุรา ปัญหาอยู่ที่คนดื่ม

ไก่: เหมือนเปรียบกับมีดหรือปืนอะ คือปัญหาไม่ได้อยู่ที่มีดหรือปืนมันขึ้นอยู่กับคนใช้ ส่วนตัวผมจริง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิด มันมีความเข้าใจได้ เราเข้าใจที่คนจะคิดว่าผิดบาป แต่ถามว่าคนเหล่านั้นเข้าใจเรารึเปล่า มันมีคำอยู่แล้วที่ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ มันไม่ได้มีแค่คนกินแล้วเมาทะเลาะ ซึ่งเรื่องนี้มันผิด เราไม่สนับสนุนก็ว่ากันไป แต่คนที่ดื่มเพื่อเพลิดเพลินดื่มเพื่อจรรโลงใจ หลายคนอาจจะมีวิธีจัดการความเศร้าที่ไม่เหมือนกัน เหล้าเบียร์อาจเป็นการจัดการความเศร้าวิธีนึง เค้าดื่มปุ๊บเค้านอนเค้ารับผิดชอบตัวเองเค้าตื่นมา มันก็เป็นเรื่องของเค้าที่จะมีความสุขตรงนั้น อย่าเอาความสุขของตัวเองไปตัดสินความสุขคนอื่นดีกว่า

ตี้: ส่วนผมคิดว่าเค้ามีสิทธิ์ที่จะคิดว่าเออมันผิดบาป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เปิดใจรับฟังความหลากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่าสังคมมันไม่มีทางที่จะถูกใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีคนหลากหลายความหลากหลายเราก็ต้องรับฟัง ไม่อยากให้มองพวกเราเป็นผู้ร้ายเป็นปีศาจ เราไม่ใช่คนเลว เราเป็นคนปกติเท่านั้นเอง

อ่านต่อ

Sk8tizen คณะราษเก็ต ที่อยากให้สเก็ตบอร์ดเป็นกิจกรรมที่ทุกคนแสดงออกได้อย่างเสรี

About the author

มิว นักเขียนฟรีแลนซ์ (จ้างได้) ครูสอนกลอง มนุษย์รักษ์โลก และแม่ค้าร้าน Outer Space Music Shop