LAAN วงดนตรีที่หยิบโฟล์ก ป๊อป และอิเล็กทรอนิกมารวมเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกล่อม

LAAN (อ่านว่า ลาน) มีที่มาจาก ‘ลานจอดรถ’ ที่เพื่อน 6 คนชอบมานั่งเล่นสรวลเสเฮฮากันในเวลาว่าง จนกระทั่งโรคระบาดทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก เวลาว่างของพวกเขาจึงมีเหลือเฟือจนแวะเวียนมายังลานแห่งนี้ได้บ่อยขึ้น ความไม่มีอะไรทำกลายเป็นการหยิบเอาเดโม่เก่า ๆ มาเปิดฟัง ค่อย ๆ ต่อเติมเนื้อร้องและดนตรีเข้าไป จากสิ่งที่ไม่เคยนึกถึง หรือพูดถึงมาก่อน ก็พรั่งพรูออกมาเป็นเรื่องเล่าขนาด 5 เพลงใน EP ‘Outside the box’ ที่อยู่ด้านล่างนี้

เราได้พบกับวง LAAN ครั้งแรกที่งาน Bangkok Music City ปี 2020 โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าพวกเขาทำเพลงแนวไหน แต่จำได้ว่าคุณ เติ้ล The Whitest Crow บอกว่าวงนี้เป็นวงเดียวในงานที่เขาซื้อซีดีมาฟัง ก็ดึงความสนใจเราไปได้ประมาณนึง ช่วงขณะกำลังรอที่จะไปดำเนินรายการในงานเสวนาฮอลข้าง ๆ ก็เดินผ่านเวทีที่พวกเขากำลัง soundcheck เลยได้โอกาสแวะฟังสักเล็กน้อย ปรากฏว่า เมื่อวงเล่นเพลงMBLD’ (ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเพลงที่เล่นคือชื่อนี้) ก็ตกหลุมรักในซาวด์ของพวกเขาทันที จนเพลงแล้วเพลงเล่า ก็รู้สึกว่ารายละเอียดดนตรีของพวกเขาไม่เหมือนใคร แต่เราก็ยืนฟังอยู่ได้ไม่นานต้องรีบไปสแตนด์บายทำหน้าที่ ทำให้พลาดโชว์เต็ม ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

เรากลับบ้านไปฟังเพลงของพวกเขาวนอยู่หลายรอบแล้ว และตัดสินใจว่าจะไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือไป เราจึงนัด LAAN มาพูดคุยถึงที่มาของการสร้างสรรค์เพลงโฟล์ก อะคูสติก ที่ไม่เหมือนใคร เพราะได้สอดแทรกสำเนียงอิเล็กทรอนิกลงไปได้อย่างไม่ขัดเขิน รวมถึงมีการประสานเสียงกันได้กลมกล่อม จนไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นวงที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ระลอกแรกเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

รายชื่อสมาชิกวง LAAN โจ—นนธวัฒน์ อินทร์หนู (คอรัส, กีตาร์ไฟฟ้า, ซินธิไซเซอร์) วิน—จิรวัฒน์ ศิลปักษา (ร้องนำ) นนท์—ณัฐดนัย ดำรงเถกิงเกียรติ (เบส, ซินธิไซเซอร์) ไอซ์—ชนาเทพ เล้าภากรณ์ (กลอง) ต้าร์—บารมี เพ็งกระจ่าง (คอรัส, กีตาร์ไฟฟ้า) บอส—สิทธินนท์ บุญพันธ์ (ร้อง, กีตาร์โปร่ง)

รายชื่อสมาชิกวง LAAN

โจ—นนธวัฒน์ อินทร์หนู (คอรัส, กีตาร์ไฟฟ้า, ซินธิไซเซอร์)
วิน—จิรวัฒน์ ศิลปักษา (ร้องนำ)
นนท์—ณัฐดนัย ดำรงเถกิงเกียรติ (เบส, ซินธิไซเซอร์)
ไอซ์—ชนาเทพ เล้าภากรณ์ (กลอง)
ต้าร์—บารมี เพ็งกระจ่าง (คอรัส, กีตาร์ไฟฟ้า)
บอส—สิทธินนท์ บุญพันธ์ (ร้อง, กีตาร์โปร่ง)

LAAN คือการรวมตัวของเพื่อนมัธยม (บางคนก็รู้จักกันมาตั้งแต่ประถม!) ที่เล่นดนตรีมาด้วยกันตั้งแต่ยังเป็นวงเล่นประกวด แม้มีช่วงหนึ่งที่เพื่อนรุ่นพี่ในกลุ่มต้องแยกย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัย แต่ไม่นานนัก ทั้ง 6 คนก็ได้กลับมาเล่นดนตรีด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง และยิ่งเป็นความโชคดีที่พี่ชายของโจ คือ เจมส์ มือกลองวง FORD TRIO ที่เพิ่งเก็บเงินทำห้องเล็ก ๆ สำหรับเป็น home studio จึงทำให้ทุกคนได้มาใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานกันที่นี่ จากที่แต่ละคนมีความชอบดนตรีที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งประสบการณ์การเล่นดนตรีแรกเริ่มมีพื้นฐานเป็นร็อก โจ ที่ได้เข้าเรียนสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส ที่ศิลปากร จึงนำอิทธิพลดนตรีมาเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้ฟัง ยิ่งไปกว่านั้น เจมส์ก็มานั่งเก้าอี้เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับ LAAN อีกด้วย

ชื่อ ‘Outside the box’ เกิดจากการตีความให้ home studio เล็ก ๆ ของเจมส์ เป็นเหมือนกล่องใบหนึ่ง ซึ่งในกล่องก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของวง LAAN ที่ยังไม่เคยมีใครเปิดดู แต่ก็มีของเติมลงไปในกล่องเรื่อย ๆ จนวันนึงฝากล่องปิดสิ่งเหล่านั้นไม่อยู่ ทำให้ของล้นออกมา กลายเป็นเพลงที่พวกเราได้ฟัง และได้รู้จักพวกเขามากขึ้น ขณะเดียวกันชื่อนี้ก็มาจากการตีความคอนเซ็ปต์เพลงที่เล่าเกี่ยวกับการเติบโตจากวัยรุ่น ต้องเดินทางก้าวผ่านช่วงชีวิตนึงเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ เหมือนกับการได้ออกจากกล่องที่เป็นสถานที่ปลอดภัยของพวกเขา เพื่อไปใช้ชีวิตข้างนอกที่อาจจะน่าตื่นเต้นกว่าในกล่องนี้ก็ได้

ลงบันไดไปทั้งวง

เรื่องราวใน EP ถูกเล่าผ่านภาษาที่มีความคมคาย และอาศัยการตีความอยู่กลาย ๆ เป็นเพราะเนื้อเพลงเหล่านี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือที่โจอ่าน โดยส่วนมากได้มาจากลิสต์ ‘100 เล่มที่ควรอ่านก่อนตายซึ่งในนั้นก็มีทั้งงานของ Hermann Hesse (Siddhartha), John Steinbeck (The Grapes of Wrath, Of Mice and Men) ส่วนซาวด์ดีไซน์ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินโฟล์ก อิเล็กทรอนิก Bon Iver ที่มักจะมีการทดลองและใส่ลูกเล่นในงานให้เราได้เหวออยู่เสมอ

ไอซ์: เพลงเขามีพื้นฐานเป็นโฟล์ก แต่มีอิเล็กทรอนิก มีซินธิไซเซอร์ แต่วงเราไม่มีใครเล่นซินธ์เป็นเลย บังเอิญพี่เจมส์เขามีซินธ์ตัวนึงซื้อเก็บไว้สักพัก นนท์กับโจเลยลองฝึกเล่นกันจนเล่นได้ ซึ่งขั้นตอนการทำเพลงคือ พอโจขึ้นกีตาร์ริธึมอะไรมาแล้ว เราก็จะมานั่งดูซาวด์ดีไซน์กัน พี่เจมส์ก็จะมาวิธีการสร้างเสียง ให้โจกับนนท์หากันไปเรื่อย ๆ ว่าเสียงไหนเข้ากัน ไม่เข้ากัน ซึ่งเราจะต้องฟังเพลงแนวนั้นให้เยอะมาก ๆ จนมีเสียงวิ่งอยู่ในหัว (นนท์: อย่าเรียกว่าฟัง ยัดเลยดีกว่า) เพราะไม่มีใครเคยฟังวงนี้เลย

วงดนตรีที่หยิบโฟล์ก ป๊อป อิเล็กทรอนิก มาเข้าด้วยกัน

Track by track

ชื่อเพลงของ LAAN ก็มีความเป็นปริศนา กับการใช้อักษรน้อยตัวในการตั้งชื่อเพลง แต่อันที่จริงแล้วไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การตั้งชื่อไฟล์โปรเจกต์ในคอมพิวเตอร์

นนท์: เวลาเราทำเพลง เราจะต้องเซฟโปรเจกต์ไว้ แล้วเราจะรู้ว่า เพลงประมาณนี้ ควรตั้งชื่อยังไง

ไอซ์: ส่วนมากเกิดจากการพิมพ์ย่อ ๆ ง่าย ๆ ให้รู้ว่าเพลงนี้คือประมาณนี้ อย่าง track แรก คืออาจเป็นวันสุดท้ายแต่พอเรียกไปเรื่อย ๆ ไม่เท่ว่ะ เลยเปลี่ยนเป็น ‘Maybe Last Day’ กลายมาเป็นตัวย่อMBLDแบบนี้

MBLD

เล่าเกี่ยวกับการบอกให้ออกไปใช้ชีวิต เหมือนว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่เราได้หายใจ มีเมโลดี้สดใส และใช้การเรียบเรียงดนตรีเร้า ๆ ในท้ายเพลงเพื่อทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง ที่สำคัญคือมีท่อนร้องว่าอาจเป็นวันสุดท้ายที่ติดอยู่มาก ๆ

Hh

โฟล์กเหงา ๆ ได้ยินเสียงกลอง train beat และซินธิไซเซอร์คลอแต่น้อย เพลงมีชื่อเต็มมาจาก ‘Him and Her’ โดยที่กิมมิกการตั้งชื่อมาจากการที่ เจมส์ เดินเข้ามาแล้วทำมือคล้ายรูปตัว H และ h ประกอบติดกันในลักษณะเหมือนคนสองคนเกี่ยวก้อย แต่กลับข้างทำให้นิ้วไม่ได้ประสานกัน พูดถึงคนที่ร่วมเดินทางกันมา แต่วันนึงก็พบกับทางแยกเพราะต่างคนต่างต้องเติบโต และเลือกเดินไปตามทางของตัวเอง

RE-MEM

ซาวด์ดีไซน์เท่ ๆ ที่ผสมอิเล็กทรอนิกเข้ากับอะคูสติกได้อย่างมีเสน่ห์ โดยRE-MEMซึ่งก็มาจากทั้งการที่เพลงนี้เป็นเพลงเก่า ที่หยิบกลับมาทำใหม่ เลยได้คำว่า re ส่วน mem ก็มาจาก memory เพราะเพลงนี้พูดถึงความทรงจำครั้งเก่าที่เล่าออกมาได้ขมขื่นแต่สวยงาม ล่าสุดพวกเขาได้ปล่อยมิวสิกวิดิโอเพลงนี้ให้ได้รับชมกันแล้วด้วย

RAYA__

ชื่อเดิมคือระยะท้างมาจากท่อนร้องว่าหากเราไม่รู้ใจตัวเอง ระยะท้างงงง ไม่ได้พิสูจน์อะไรที่ถูกปรับให้เป็น ‘RAYA__’ โดยขีดล่างสองเส้นเป็นภาพแทนเส้นทางที่ออกเดิน เป็นเพลงที่มีการปรับรูปแบบระหว่างท่อนให้มีความหลากหลาย ทั้งช่วง intro และ outro ที่ประสานเครื่องดนตรีและเสียงร้องกันอย่างยิ่งใหญ่ แต่ดนตรีในช่วงเวิร์สมีบีตกลองเหมือนเป็นเสียงเข็มนาฬิกา จนถึงฮุกมีความมินิมัลที่เน้นความเงียบให้เสียงร้องได้เด่น

ที่มาของเพลงเกิดจากการที่วงเขียนเพลงออกมาเยอะ แต่ไม่ได้ใช้จริงสักที กลายเป็นเหมือนการเขียนโดยไม่มีจุดหมาย บวกกับประสบการณ์ตอนมัธยมที่พวกเขาเห็นเพื่อน ๆ บางคนที่แม้จะเรียนจบ ม. 6 แล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบ หรืออยากทำอะไรกันแน่

นนท์: มันก็ได้อีกความคิดนึงนะ บางทีเราก็ต้องเดินทางไปเรื่อย ๆ เพื่อหาใจตัวเอง

ไอซ์: จะมองเป็นเรื่องความรักก็ได้ หรือเรื่องเพื่อน หรือเรื่องตัวเองที่ก็ยังหาตัวเองไม่เจอสักที

LAAN

เจมส์ได้ให้โจทย์กับทุกคนในการแต่งเพลงแรก ที่จะเป็นเพลงเกี่ยวกับวงเพื่อเป็นบทสรุปใจความของทั้งตัวตนวง และผลงานชุดนี้ พวกเขาก็ได้หยิบเอาเรื่องราวในลานของความทรงจำมาเล่าจากมุมของแต่ละคน

ไอซ์: มาจากสถานที่ที่เพื่อน ๆ อยากมาสังสรรค์กัน เราไม่ค่อยไปร้านเหล้า ก็ซื้อมาดื่มกันตรงนั้น ในเพลงก็จะมีเสียงเพื่อน ๆ มาร่วมร้อง ซึ่งก็คือเพื่อนของพวกเราท่ีมาเจอกันที่ลานจอดรถ

วิน: ตอนเขียนเพลงนี้ เพื่อนแต่ละคนยังต้องกักตัว ก็เลยเขียนแยกกันมาจากต่างที่กัน เนื้อเพลงแต่ละท่อนก็จะมีความเป็นแต่ละคนอยู่ เรานึกถึงช่วงที่เรารวมตัวกัน เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบรรยายความรู้สึกออกมา

ยิ่งไปกว่านั้น artwork ของOutside the boxก็เป็นงานที่ วิน นักร้องนำ ผู้เรียนอยู่คณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ วินตีความภาพจากชื่อของ EP และวาดออกมาเป็นกล่อง โดยเขาเลือกใช้ภาพสเกตชดินสอของตัวเองมาทำเป็นแบบดิจิทัล เพราะเขาชอบงาน drawing เป็นการส่วนตัว และงาน drawing ก็ให้ความหมายใกล้เคียงกับคอนเซ็ปต์ของงานชุดนี้ เพราะมองว่าการสเกตชก็เป็นพื้นฐานที่จะต่อยอดเป็นงานแบบอื่น ๆ ในวันข้างหน้าได้

ส่วนภาพด้านในก็ตีความจากเนื้อเพลง หน้าปกมีลักษณะเป็นกล่อง แทน home studio โดยมีสิ่งมีชีวิตสีดำตัวเล็ก ๆ มีความลึกลับ น่าค้นหา แทนตัวพวกเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนเรื่อง ‘Spirited Away’ หน้าแรกให้เป็นภาพการก้าวเท้าเข้ามาในกล่อง เหมือนเข้าสู่โลกของ LAAN ที่จะได้เจออะไรที่แปลกใหม่ รูปปฏิทินเป็นเหมือนตัวสื่อถึงการนับวันเวลาในเพลงMBLDส่วนเพลงHhก็ใช้รูปเป็นการมองดูตัว M จากคนละฝั่ง จะทำให้เห็นมุมที่เป็น M หรือ W ก็ได้ คล้ายกับการที่เรามองเห็นภาพจากคนละมุมได้ไม่เหมือนกัน หากไม่เข้าใจกันก็จะเกิดเป็นความขัดแย้ง ส่วนRE-MEMเป็นภาพคนที่จมปลักอยู่กับตัวเอง กำลังครุ่นคิดถึงบางสิ่งบางอย่าง ส่วนRAYA__คือการพร้อมที่จะเดินทางออกจากกล่องไปตามสิ่งใหม่ และจบที่หน้าสุดท้ายคือLAAN’ เป็นบทสรุปของทุกสิ่งที่กลับมารวมกันเป็นผลงานชุดนี้

มองอะไรกันทั้งวง

Interview

ไม่น่าเชื่อว่างานแรกที่ได้เล่นคือ Bangkok Music City

โจ: ตื่นเต้น เป็นฟีลที่ตื่นมา แล้วนนท์ทักมาว่าได้เล่น เฉยเลย

ไอซ์: เราเห็นเพจ Bangkok Music City ที่เขาเปิดรับสมัครให้ส่งผลงานเข้าไป เราก็คุยกันว่ายังไงดี พร้อมไหม หรือส่งไปก่อน ผ่านไม่ผ่านว่ากันอีกที แต่ก็ซ้อม ๆ ไปก่อน เราก็คุยอย่างนี้จนเหลือ 2 วันสุดท้าย พี่เจมส์ก็บิลด์ ๆ ให้ส่ง แล้ววันนั้นซ้อมกันพอดี ก็เลยตั้งมือถืออัดตรงนั้นส่งไป ผ่านเลย จำได้ว่าเร่งมาก ยังกรอก Google Form อยู่เลย ใกล้เวลาหมดเขตยังเรนเดอร์ เน็ตก็ช้า จนเราคิดว่าอาจเป็นวันสุดท้าย’ (หัวเราะ)

แต่ก็แปลกใหม่ดีฮะ ผมเคยเล่นเวทีใหญ่ก็คือเวทีงานโรงเรียน หรือเวทีประกวดข้างนอก แล้วเพลงที่เล่นก็ไม่ใช่เพลงของเราอยู่ดี แต่การมาขึ้นเวทีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เล่นเพลงตัวเอง ก็เจอปัญหา เราไม่ชินเวทีด้วย อุปกรณ์หลาย ๆ อย่างที่เราต้องเล่น ยิ่งวงเรามีไลน์คอรัสเยอะ แล้วพอคนใดคนนึงไม่ได้ยินปุ๊บ มันก็จะเหวอ ๆ แต่โชคดีที่เราได้เล่นวงแรกของวันนั้น แล้วเขาจัดคิวให้เราซาวด์เช็กวงสุดท้ายพอดี ก็มีเวลาให้แก้อะไรได้นิดหน่อย ได้เซ็ตของไว้บนนั้นพร้อมเล่นต่อเลย แต่ความที่เราหน้าใหม่เราก็จะมีความเกรงใจพี่ sound engineer ไม่กล้าขออะไรที่คิดว่านิด ๆ หน่อย ๆ เราน่าจะทำเองได้ แล้วก็มีเรื่องที่เราไม่คิดว่าเวทีมันจะเล็กกว่าที่เราคิด (วิน: ข้างหลังยืนเบียดกัน) เราเลยไม่ค่อยมีอิสระในการเล่น ไปไหนไม่ได้ ไม่ได้ยินเพื่อนอีก มีรุ่นพี่ที่เราชอบมาดูเราอีก ล่กจัดเลย แต่การได้เจอปัญหา ก็ทำให้ได้รู้ว่าต้องแก้อะไรบ้าง

นนท์: ส่วนมากปัญหาจะเป็นเวลาซ้อม เพราะว่าเพลงเราไม่ได้อัดจริงทั้งหมด เวลาเล่นสดมันต้องเล่นอีกแบบนึง ซึ่งก็ยังไม่คล่องมาก ก็ต้องซ้อมหนักมาก ๆ

บอส: อย่างที่บอกว่ามันเริ่มมาจากวงเด็กมัธยม ไม่ได้เรียนดนตรีมาทุกคน เป็นคนที่ไม่เคยฟังเมโทรนอม พอเล่นจริงจังก็ลำบากนิดนึง เวลาอยู่บนเวทีก็ไม่ได้ยินเสียงเพื่อนบ้าง อะไรบ้าง ต้องเรียนรู้เยอะมากเลยครับ

LAAN วงดนตรีที่หยิบโฟล์ก ป๊อป อิเล็กทรอนิกมารวมเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม

สมมติโควิดหมด แล้วทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ จะทำอะไร

ไอซ์: ตอนนี้เราค่อย ๆ วางแผนไป ไม่ได้คิดไกลมาก เราก็ยังไปเรียน ทำงาน อย่างช่วงนี้ใกล้สอบ ถ้าเราจัดตารางให้มันแน่น ๆ แล้วจะเหนื่อยเกินไป อย่างผมกับโจที่เรียนดนตรีอยู่แล้ว ไม่ได้มีแค่เพลงของวงที่ต้องซ้อม ยังมีงานมหาลัย มีวิชาเอกที่ต้องซ้อมเพิ่ม แต่ก็จะพยายามจะแวะเข้ามาทำเพลงเรื่อย ๆ ไม่ให้ทิ้งนานเกินไป ขอโครงเพลง หรือพาร์ตกีตาร์ให้ได้ แต่ในความสบายจะมีความฟิตอยู่วันสองวัน จะมีนนท์คอยกระตุ้น แบบวันนี้ไม่ได้ละ ต้องเอาละ

มีเรื่องอื่น ๆ ที่อยากพูดผ่านเพลงอีกไหม

ไอซ์: ตอนนี้ทุกเพลงมันอยู่ในเรื่องความรัก แค่จะผิดหวัง สมหวัง ผมว่ามันมีมาหมดแล้วในรุ่นก่อน ๆ เพียงแต่ว่าเราจะเล่าในแบบของเรายังไง ซึ่งทำไปทำมาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องเดิม ๆ แค่เปลี่ยนคำ เปลี่ยนการเรียบเรียง เราเลยพยายามหาเนื้อเรื่องที่ให้เล่าหลุดไปจากความรักไปได้ ก็ให้โจอ่านหนังสือแล้วเอามาทำไปเรื่อย ๆ

เคยคุยกันเล่น ๆ ว่าถ้าจุดนึงเราทำเพลงโดยไม่ได้กล่าวถึงความรักได้ น่าจะเจ๋ง เหมือน Bon Iver อัลบั้ม i,i มันมีเพลงที่พูดว่า ทุกวันนี้โลกร้อน โลกเสื่อม เพราะเราไม่ได้ดูแลมัน เรานึกถึงโลกเพราะมันมีที่ให้เราอยู่อาศัย ทำให้เราสะดวก เทียบกับเวลาที่เราจะคิดถึงแม่ก็ต่อเมื่อเราอยากได้ตัง เราก็ขอตังค์แม่อย่างเดียวโดยที่ไม่ได้คิดว่าแม่จะมีตังค์ใช้มั้ย

วิน: ช่วงนี้ผมอินเรื่องบ้านเมือง สังคม ในอนาคตอาจจะทำเพลงที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับทั้งตัวเรา และคนที่ฟัง เริ่มรู้สึกว่าอยากให้หน้าที่ของเพลงโตขึ้น อยากให้ขับเคลื่อน หรือทำให้เกิดผลดี ได้เปลี่ยนอะไรสักอย่าง

LAAN 5

เรานึกถึงที่คนพูดเรื่อง ศิลปะเป็นเงาสะท้อนตัวตนของศิลปิน แต่ขณะเดียวกัน ศิลปะก็ควรให้อะไรกับโลก เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร

โจ: พูดถึงดนตรีแล้วกัน เพลง ‘RAYA__’ มันก็สะท้อนอะไรบางอย่างจากระบบการศึกษานะ เด็กเรียนตั้งแต่อนุบาล ยัน ม. 6 ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองต้องการอะไร ผมว่าการศึกษาควรมีส่วนเข้ามาช่วยให้ตัวเลือก หรือชี้นำการใช้ชีวิตมากกว่านี้หรือเปล่า แบบนี้ต้องโทษเด็ก หรือว่าโทษใคร

บอส: ผมว่าศิลปะเป็นตัวสะท้อน หรือบอกเล่าตัวตน แต่บางทีก็พูดเรื่องตัวเองมากไปจนขาดคือการรับฟังคนอื่น

วิน: เหมือนเราไม่ยอมรับฟังสิ่งใหม่ ๆ หรืออะไรที่ไม่ค่อยเข้าหู (โจ: คนเรามันก็ฟังสิ่งที่ตัวเองอยากจะฟังนั่นแหละ) เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่

นนท์: เราก็อาจจะเป็นคนทุกคนนะ ลึก ๆ แล้ว มันน่าจะต้องมีอะไรบางอย่างที่แก้เรื่องนี้ได้ เช่น การมีเพลงสักเพลงที่พูดถึงเรื่องนี้ แล้วสามารถที่จะแก้ไขให้คนอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น

LAAN 6

ติดตามความเคลื่อนไหวของ LAAN ได้ที่ https://www.facebook.com/laanband

ขอขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ ร้าน Happy Mum Happy Me

 

 

‘John Young Sandwich’ อัลบั้มความยาว 15 เพลง ของ Hariguem Zaboy ที่ไม่อยากให้คุณลืมความสนุกของดนตรีร็อก

About the author

อิ๊ก พนักงานประจำที่เขียนบทความดนตรีในเวลาว่าง หรือถ้าไม่ว่างก็สันนิษฐานได้ว่าจะพบเธอที่คอนเสิร์ตหรือปาร์ตี้

BOOKy THE STRIDER กระต่ายน้อยสุดโมเอะแห่งวงการถ่ายภาพ ผู้มีไรม์เป็นของตัวเองในทุกจังหวะกดชัตเตอร์