‘John Young Sandwich’ อัลบั้มความยาว 15 เพลง ของ Hariguem Zaboy ที่ไม่อยากให้คุณลืมความสนุกของดนตรีร็อก

2020

John Young Sandwich – Hariguem Zaboy อัลบั้ม 2564 – ย้อนไปเมื่อประมาณปี 2014 นับว่าเป็นปีนึงที่วงการดนตรีนอกกระแสมีความหลากหลาย และเริ่มฉายแววของความกล้าบ้าบิ่นที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ซึ่งบรรดาวงเอาแต่ใจก็มักจะจับกลุ่มกันจัดคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง จนเกิดเป็นแฟนเพลงกลุ่มเล็ก ๆ แต่เหนียวแน่น ชนิดที่ว่าถ้ามีวงไหนในแก๊งมีโชว์ ทุกคนก็จะเฮละโลไปดู จนกลายเป็นภาพชินตาที่บรรยากาศในงานเล็ก ๆ เหล่านี้มักจะมีความคึกคักและเป็นกันเอง ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่อัลบั้มThick Minkได้ออกมาปรากฏสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ผลงานชุดนี้ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการดนตรีทางเลือกอยู่ไม่น้อย เมื่อเพื่อน 4 คนที่ชื่นชอบแนวดนตรีใกล้เคียงกัน ปล่อยเพลงออกมาในนาม Hariguem Zaboy ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งได้รู้จักกับแนวดนตรี dream pop ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างเงียบ ๆ ทางฝั่งอังกฤษในช่วงปี 80-90s บางครั้งบางทีคนภายนอกจะเรียกเพลงแนวนี้ว่า ‘shoegazer’ หรือจ้องเกือก’ มาจากอากัปกิริยาที่นักดนตรีก้มมองเท้าที่เหยียบ pedal effect ที่มีกันอยู่หลายก้อน เพื่อสร้างเสียงผสมอื้ออึงอันเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีแนวนี้ ไป ๆ มา ๆ ชื่อเล่นดังกล่าวก็กลายมาเป็นคำนิยามที่คุ้นหูกันดีในปัจจุบัน

Hariguem Zaboy สมาชิกวง ฮาริกึ่ม ซาโบ้ย

ความที่ดนตรีไม่ค่อยคมชัด หรือจับใจความของเนื้อร้องไม่ได้นัก ทำให้ดนตรีแนวนี้เป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบรายละเอียดดนตรีจำพวกซาวด์กีตาร์หนักหน่วง แตกซ่าน พร่ามัว แต่ในความไม่เกลี้ยงเกลานั้นก็ได้ซ่อนเมโลดี้งดงาม หรือมีเนื้อเสียงที่อ่อนโยนเหมือนภูติขับขาน คนฟังเลยแทบไม่สนใจว่าเขาหรือเธอจะต้องร้องให้เป็นภาษา เพราะเสียงร้องได้ให้ความรู้สึกเป็นเครื่องดนตรีอีกชิ้นที่ทำให้บทเพลงสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย

แน่นอนว่าพอเป็นอะไรที่ niche นักดนตรีที่ทำเพลงแนวนี้ก็ไม่ได้มีมากนัก กลุ่มแฟนเพลงเองก็ค่อนข้างเล็ก พวกเขาจึงเป็นอีกกลุ่มที่คอยเกื้อหนุนกันเองดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จนสื่อดนตรียุคนั้นขนานนาม shoegaze ว่าเป็น ‘The Scene That Celebrates Itself’ ไม่ต่างกับ Hariguem Zaboy ที่แม้ว่าสไตล์ดนตรีจะเปลี่ยนไปจากชุดแรกที่เน้นความฟุ้งฝัน มาเป็นความดิบกร้านพุ่งพล่านในชุดKartแต่ก็ยังคงมีคนให้การต้อนรับและสนับสนุนวงอย่างอบอุ่น เห็นได้จากไลฟ์หลาย ๆ งาน เราสัมผัสได้ถึงความสนุกที่ถูกปลดปล่อยออกมาผ่านดนตรีเกรี้ยวกราด เกิดการรับส่งพลังงานระหว่างศิลปินกับคนดูจนฮอลล์ร้อนระอุอยู่เสมอ

จนกระทั่งหลายปีให้หลัง แม้วิธีการบริโภคเพลงเปลี่ยนไปจนแนวคิดในการประพันธ์ดนตรีกระแสหลัก หรือกระแสรองแทบจะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างกัน แต่ในงานชุดใหม่ของ Hariguem Zaboy ที่จะออกมาในปี 2021 นี้ยังยึดวิถี underground ที่คุณอาจจะคิดว่าเล่นกันเอง ดูกันเองมิหนำซ้ำ พวกเขายังเลือกทำเพลงที่เหมือนพาย้อนเวลากลับไปในยุค 70s-80s

หากใครจะมองว่าคนพวกนี้ไม่ยอม move on หรืออยากที่จะผลิตซ้ำของเก่าก่อนเห็นว่าจะไม่ใช่ซะทีเดียว นี่อาจเป็นความรู้สึกที่ใครสักคนอยากแบ่งปันความชอบของตัวเองให้กับคนอื่น ๆ ที่น่าจะชอบอะไรเหมือน ๆ กัน ทั้งยังนำเสนอหลืบเล็ก ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีให้คนยุคนี้ได้ทำความรู้จักมากขึ้นอีกต่างหาก ต้องยกความดีความชอบให้กับการไม่ลดละความพยายาม ที่จะรักษาบรรยากาศโครมครามระหว่างวงและแฟนเพลงในการเล่นคอนเสิร์ตที่หาได้ยากขึ้นทุกวัน วงบอกกับเราว่า พวกเขาคิดเยอะขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะในยุค post covid-19 แบบนี้ การแสดงคอนเสิร์ตแทบจะเป็นไปไม่ได้ แล้วเราจะทำให้ความสนุกพวกนั้นกลับมาได้ยังไง?

บัดนี้ สิ่งที่พวกเขาเคยตามหาได้ถูกค้นพบ และถูกกลั่นกรองออกมาแล้วในJohn Young Sandwichสตูดิโออัลบั้มชุดที่สามของ Hariguem Zaboy

รายชื่อสมาชิกวง Hariguem Zaboy
ณป่าน พิชัยกุล (ณป่าน) กีตาร์
กรรณตนพ ตันเจริญ (กอล์ฟ) กลอง
รังสิมันตุ์ สุวิรัตนภัส (จ้า) กีตาร์, ร้องนำ
รัตนพงษ์ พุ่มลอยฟ้า (เบนซ์) เบส

วง ฮาริกึ่ม ซาโบ้ย 02

มันเป็นประวัติของนักบินอวกาศคนนึง ชื่อ John Young เขาแอบเอาแซนด์วิชขึ้นไปบนยานอวกาศ เราแค่เห็นว่าคำมันเท่ดี แล้วมันก็เหมือนเป็นการลักลอบทำอะไรสักอย่างที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คิดว่าน่าจะเข้ากับอัลบั้มนี้จ้า ฟรอนต์แมนเล่าที่มาของชื่ออัลบั้ม ซึ่งเราก็เห็นด้วยว่ามันเข้ากันกับแนวคิดที่พวกเขาตั้งใจ

John Young Sandwichคืออัลบั้มที่ได้อิทธิพลจากดนตรีที่มีการบรรเลงแบบ freeform ไม่เน้นรูปแบบและมีการทดลองสูง บางเพลงให้ความรู้สึกฉับไว ต่อต้าน ทั้ง noise, no wave, free jazz และ punk มาอย่างเข้มข้น แต่ไม่ลืมที่จะสอดแทรกท่อนป๊อปติดหูไว้ด้วย นอกจากนี้ Hariguem Zaboy ตั้งใจที่จะหลงเหลือกลิ่นอายดนตรีของหลายวงที่เป็นแรงบันดาลใจของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น Guided by Voices, The Replacements, Yo La Tengo กับการทำแนวดนตรีที่หลากหลายในหนึ่งอัลบั้ม, กลุ่ม Riot grrrl ที่ทำดนตรีพังก์วิพากษ์การเมืองและเรื่องเพศ, วงพังก์แบบ Half Japanese ไปจนถึง outsider music แบบ Daniel Johnston 

เราพยายามเล่นออกมาแบบใช้อารมณ์มากกว่าที่จะเรียบเรียงมาแล้ว คือการมีความสด ณ ตรงนั้น บางทีเนื้อเพลงก็จะไปตามแนวคิดนั้น คือค่อนข้างจะนามธรรม มีความอุมาอุปมัยเยอะ ถ้าลองอ่านดูคนน่าจะตีความได้หลายเรื่อง ทั้งการเมือง โสเภณี ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องสังคม เกี่ยวกับความรักมีแค่เพลงเดียว อีกโจทย์คืออยากทำเพลงที่เล่นสดแล้วสนุก จากที่อัลบั้มแรก อัลบั้มสอง คนฟังอาจจะชอบเพลงเราเท่าเดิม แต่อัลบั้มนี้วิธีที่เขา react กลับมาหาเรามันจะต่างไป เราอยากได้ภาพเวลาเล่นคอนเสิร์ตแล้วมีการขยับเขยื้อนกันมากขึ้น มีการเซิร์ฟกัน มีการแท็คกันแบบนั้น

ความพิเศษของอัลบั้มชุดนี้ยังได้ mixing engineer ฝีมือดีหลายคนมาร่วมงาน ทั้ง Tim Green ที่เคยร่วมงานกับ Bratmobile, Sleater-Kinney หลาย ๆ วงใน K Records, Kill Rock Stars, Bikini Kill ไปจนถึง Wharton Tiers อดีตมือกลองวง Theoretical Girl ที่ฝากผลงานไว้กับ Dinosaur Jr. และ Sonic Youth เช่นกันกับ Martin Bisi ที่รับผิดชอบเพลงของ Sonic Youth ในอัลบั้มEvol

ตอนส่งเพลงไปมิกซ์ เราพยายามจะเลือกแต่ engineer ที่ทำแต่งาน analog สารภาพตรง ๆ ว่าเราไม่ฟังเพลงใหม่ ๆ เลย ส่วนนึงอาจจะเป็นเรื่องซาวด์ของยุคสมัยนี้ที่ยังไงก็ต้องไปบิด หรือไปจบงานในโปรแกรมเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเพลงป๊อปหรือร็อก ซาวด์มันจะคล้าย ๆ กัน ถึงจะทำเพลงพังก์แค่ไหนสุดท้ายก็จะมีความแบนของดิจิทัลอยู่เยอะ เราไม่อยากให้อัลบั้มของเราเป็นแบบนั้น พยายามให้ซาวด์ตรงกับยุคของอิทธิพลดนตรีที่เราอยากให้มันเป็นมากที่สุด ให้มีความอุ่นของ pure analog อย่าง 3 คนนี้เขาไม่มิกซ์เพลงเราผ่านโปรแกรม เขาใช้บอร์ดของเขาเลย

‘Track by Track’ เจาะลึก 15 เพลงจากอัลบั้มJohn Young Sandwich

Bonfire

เพลงกีตาร์โปร่งเพลงเดียวที่พวกเขาตั้งใจให้เป็นเพลงเปิดอัลบั้ม มีที่มาจากริฟฟ์กีตาร์ของณป่าน โดยโครงเพลงนั้น จ้าได้แรงบันดาลใจจาก Guided by Voices ที่ส่วนใหญ่จะมีเพลงความยาวไม่เกิน 1 นาที มีฮุกเดียวแล้วจบเพลง และเป็นต้นไอเดียให้หลาย ๆ เพลงในอัลบั้มที่ต้องการทำออกมาให้สั้นและป๊อป แต่การนำเพลงนี้ไปเล่นครั้งแรกที่งาน Hongian Music Festival ถือเป็นความท้าทาย เพราะพวกเขายังไม่เคยเล่นเพลงของตัวเองที่เป็นเพลงอะคุสติกที่ไหน ซึ่งน่าจะต่างจากความคาดหมายของแฟนเพลงอยู่ระดับนึง แม้การเริ่มต้นครั้งแรกจะไม่ได้รับเสียงตอบรับที่น่าพอใจนัก แต่ก็ทำให้วงนำไปพัฒนาต่อจนกลายเป็นเพลงในเวอร์ชันปัจจุบัน  

เวลาผมแต่งเพลงมักจะไม่ใช่เรื่องจริงในชีวิต แต่จะเป็นการสร้างเหตุการณ์นึงขึ้นมา เพลงนี้เหมือนเป็นผู้หญิงอยู่ในห้องแคบ ๆ มีความลังเลเกี่ยวกับตัวเอง ค่อนข้างจิตหลอน เหมือนมีกองไฟนึงเป็นแสงสว่างนึงที่เขาเห็น ที่ทำให้เขายึดเกาะไว้ได้แม้ว่ามันจะร้อน แล้วในเพลงจะมีท่อนนึงที่เหมือนแพนเสียงเนื้อร้องไปมา อยากให้จินตนาการเหมือนว่า เป็นช่วงที่ผู้หญิงเขากำลังจะเจอกับสิ่งที่ดีแล้วแหละ แต่อยู่ดี ๆ ก็ไม่ค่อยมั่นใจอีก

The Dell 

ริฟฟ์หลักของเพลงเกิดจากการที่ณป่านเล่นขึ้นมาเพื่อคลายความเครียดระหว่างซ้อม แต่จ้าเกิดชอบขึ้นมาจึงแต่งพาร์ตโน้ตต่อจากริฟฟ์นั้น เนื้อหาเกี่ยวกับนักบวชถูกฆาตกรรม

เขาเป็นนักบวชแต่พยายามตามสิ่งที่สกปรกโสมม ตามหนู ตามอะไรไปเรื่อย ๆ จนไปเจอที่ที่ไม่ใช่ของเขาที่ค่อนข้างจะสกปรกมาก ๆ แล้วเขาก็โดนฆ่าที่นั่นโดยโดนมีดแทง

Mind Triggers

เพลงที่ณป่านขึ้นโครงมา ซึ่งจ้าคิดว่าทางคอร์ดได้แล้วแต่ต้องปรับวิธีการดีด โดยพยายามจะให้มีริฟฟ์ที่ณป่านเล่นน้อยที่สุด เป็นคอร์ดเดียวไปตลอดทั้งเพลง มีความเป็น drone sound ทั้งที่เป็นเพลงป๊อป คล้ายกับเพลงจากค่าย Flying Nun ยุคแรก ๆ อย่างเช่นวง Snapper

ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องเวรกรรม แต่พยายามคิดถึงคนที่เขาเชื่อ ว่ามันเอาคืนได้แบบไหนบ้าง ในเพลงจะมีท่อนที่ร้องว่าถ้าถุยน้ำลาย ก็จะโดนถ่มคืน หรือถ้าคุณทำอะไรไว้ เวลาหันไปที่มุมห้อง ไอ้สิ่งนี้อาจจะอยู่ข้างหลังคุณ กำลังจะเอาคืนคุณเลยก็ได้นะ

No Services 

จ้าแต่งเพลงนี้ตั้งแต่แรกจนจบ ก่อนจะนำมาให้สมาชิกวงช่วยกันปรับแต่งรายละเอียด โดยช่วงนั้นจ้าชื่นชอบวงพังก์จากวอร์ชิงตัน บวกกับณป่านที่กำลังสนใจพวกซินธิไซเซอร์ จึงใช้สไตล์ริฟฟ์จากเพลงพังก์โดยมีซินธ์เป็นส่วนหลักของเพลงด้วย ทำให้ณป่านก็ต้องเล่นกีตาร์แล้วสลับมาเล่นคีย์บอร์ดทันที โดยมีท่อน free form หลังท่อนฮุก ณป่านจึงต้องกลับไปเล่นกีตาร์อีกครั้งก่อนจะนำไปสู่ outro

เพลงนี้เกี่ยวกับโสเภณี เป็นตลกเสียดสีในเรื่องซีเรียส ที่ผมก็ไม่ได้อยากทำให้มันตลก อย่างการที่คนคนนึงออกจากบ้าน พยายามจะไปหาโสเภณี แต่วันนี้วันพระ ซึ่งเขาก็คิดว่าไม่น่ามีใครทำงานกันนะ แต่พอไปถึงที่จริง ๆ ปรากฏว่าเขาก็ทำงานกันเพียบเลย

กอล์ฟ: ตอนอัดคุยกันว่าอยากใส่อะไรก็ใส่ ไม่ได้นึกถึงตอนเล่นสด เราแค่อยากให้เพลงที่อยู่ในอัลบั้มได้ซาวด์ที่ครบ มันมีบางเพลงที่บางซาวด์ก็คิดขึ้นมาได้ในห้องอัด อย่างเพลงม้า (The Horse Scene) ที่เราใส่เปียโนตัวใหญ่ไว้ เวลาเล่นสดอาจจะไม่มีเปียโนก็ได้ 

จ้า: เพลงนี้ (No Services) ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่คิดว่า เล่นสดก็คงทำให้เหมือนที่อัดไม่ได้ ผมได้ยินคนสมัยใหม่เขาพูดประมาณว่าเล่นสดเสียงเหมือนในแผ่นเลยเป็นอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดที่สุดในชีวิตอันนึง ความรู้สึกคืออะไรวะ ทำไมเล่นสดต้องเหมือนเทป ต้องเหมือนแผ่นYo La Tengo เล่นสดไม่เคยเหมือนที่อัด มันก็เป็นไอเดียในการเล่นสดของเขา คนเล่นละครเวทีเขาอาจจะไม่ได้เล่นเหมือนกันทุกรอบ หรือเล่นตามบททุกครั้ง มันไม่มีทางเหมือน อย่าไปพยายามให้เหมือนดีกว่า

Pier No. 41

จ้าทดลองเล่นริฟฟ์ noise ไปพร้อม ๆ กับณป่านที่เล่นกีตาร์ free form โดยมีโครงตั้งต้นเป็นเสียงกลองของกอล์ฟที่เล่นขึ้นมาในระหว่างกำลังเซ็ตอุปกรณ์ กับเบสของเบนซ์ที่เล่นลูปไปเรื่อย ๆ 

ณป่าน: ตอนแรกก็คิดเยอะกับมันมาก แต่สุดท้ายก็ช่างมัน ให้เป็น noise ไปเลย แล้วก็พยายามให้มันมีตอนหัวกับตอนท้ายที่เล่นเหมือนกัน

ทว่าการอัดเพลงนี้เกิดปัญหาขึ้น เมื่อเทคที่โอเคแล้วกลับใช้ไม่ได้เพราะตัว reel tape หมุนช้าลงระหว่างที่กำลังอัดอยู่ ทำให้เทปยืด และต้องอัดใหม่ ทั้งที่ความจริงควรจะเป็นเพลงที่ใช้เวลาอัดเร็วที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าใช้เวลานานอยู่ และด้วยความที่เป็น free form ทำให้ต้องมาเลือกเทคที่ฟังแล้วเวิร์กที่สุด ซึ่งคือเทคที่เราได้ฟังกัน

Say Goodbye to Margot

เพลงนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Total Football ของ Parquet Courts และบรรยากาศแบบ The Velvet Underground เป็นอีกเพลงที่พวกเขาตั้งใจจะให้เล่นกีตาร์ 2-3 คอร์ด และมีเมโลดี้ที่ติดหู ผสมกับ noise, free form เยอะ ๆ โดยให้กลองและเบสเป็นโครงเพลงหลัก แล้วจะให้มี plot twist ในท้ายเพลงที่เปลี่ยนไปสู่การเล่นอีกแบบ ซึ่งจะมีการแยกเสียงให้อยู่หูซ้ายบ้าง หูขวาบ้าง เป็น stereo separation ให้ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ความที่เพลงยาว แต่มีท่อนเซอร์ไพรส์อาจทำให้คนฟังลืมความที่มันเป็นเพลงยาวเกินไปได้ และทำให้รู้สึกว่าเพลงน่าสนใจเหมือนมีสองเพลงในเพลงเดียว

ผมจินตนาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรม น้องสาวไปเยี่ยมพี่สาวในเมือง แล้ววันนั้นพี่สาวมีนัดออกไปข้างนอก ทำให้น้องสาวอยู่บ้านคนเดียว แล้วโดนฆ่าในบ้าน พี่สาวกลับมาเจอเหตุการณ์ที่บ้านดูไม่ปกติ พอขึ้นบ้านไปก็เจอศพน้องสาวตัวเอง

วง ฮาริกึ่ม ซาโบ้ย

South Pole

เพลงที่จ้าแต่งมาเพียงเมโลดี้ร้อง แล้วให้คนอื่น ๆ ตะโกนขึ้นมาในท่อนจบของเวิร์สแต่ละท่อน และมีเสียงเคาะขวด ให้ความรู้สึกถึงการสังสรรค์ในวงเหล้าของกะลาสีเมา ๆ

เป็นการบ่นไปเรื่อยเกี่ยวกับสิ่งที่เราชอบ ทั้งหนังของ Hitchcock ข่าวที่อเมริกากับจีนรบกันเรื่องสินค้า แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ว่าอเมริกาก็โดนจีนครอบงอยู่นะ ก็พยายามจะเปรียบเปรยการครอบงำนี้ว่าเป็นการแสดงของ Benedict Cumberbatch ที่เหมือนจะตลก แต่ก็ไม่ตลก แล้วก็ชี้ให้เห็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เวลาจะทำอะไรแล้วเราจะมองข้ามไป ว่าจุดเล็ก ๆ บนนิ้วเรา บาทีก็สามารถทำให้เราหนาวเหน็บแบบขั้วโลกได้เหมือนกันนะ

The Teenage Letter

เพลงนี้เป็นป๊อปสั้น ๆ ที่ณป่านคิดริฟฟ์ขึ้นมาเพราะอยากได้เพลง lo-fi ส่วนจ้านึกไปถึงเพลงแบบ K Records หรือวงแถบวอชิงตัน ซึ่งไลน์เปียโนเพิ่งจะเพิ่มมาในห้องอัด ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้อยากได้ซาวด์ของแกรนด์เปียโน เพียงแต่ว่าตัวเลือกในห้องอัดมีเท่านี้ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่พวกเขาชอบที่สุดในอัลบั้ม ซึ่งเป็นการเรียงลำดับเพลงที่พอเหมาะพอดีที่จะอยู่หลังจาก South Pole ทั้งการเรียง track ในอัลบั้ม และการเล่นต่อบนเวที

เนื้อหาเพลงก็เกี่ยวกับ puppy love เป็นความรักไฮสคูล ประมาณว่าผมส่งจดหมายรักให้คุณ แต่ทำไมคุณไม่เห็นสนใจมันเลย คุณจะมัวไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำไม ทำไมไม่มาอยู่กับผม’”

Live Wires 

เพลงที่ได้อิทธิพลหลัก ๆ จาก Yo La Tengo และมีการเล่นกีตาร์สไตล์พังก์ และ no wave โดยคงความสั้นที่สุดเอาไว้ โดยเนื้อหาเพลงพูดถึงการออกเดตกับผู้หญิง ที่บางคนคิดว่าแค่การจูบลาไม่พอ อยากได้มากกว่านั้น

ณป่าน: เพลงนี้คิดเยอะที่สุด ฟังครั้งแรกก็คิดว่าเชี่ย เพลงนี้กูต้องทำอะไรวะเหมือนจ้าแต่งมาแล้ว 150% เลย (หัวเราะ)

จ้า: จริง ๆ อันนี้แค่มีกลองกับเบสมาก็เหมือนจะเป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบได้แล้ว หรือเพลงนี้ป่านตีคอร์ดแบบเดียวกับที่ผมทำแล้วมิกซ์ออกมา มันก็เป็นเพลงได้แล้ว แต่เราไม่อยากได้แบบนั้น เราอยากได้กีตาร์หูนี้เล่นแบบนี้ อีกหูเล่นแบบนึง ฟังออกมาแล้วอันนึงเล่นเยอะ อีกอันเหมือนตอด ๆ กันไป จะเล่นกับสเปซยังไง อัลบั้มนี้เหมือนคิดให้เยอะเพื่อที่จะเล่นให้น้อย ใช้สอยให้มันมีประสิทธิภาพยังไงได้บ้าง

Broken Facial Scene

เพลงที่ตั้งใจพูดถึงความสัมพันธ์แบบเผด็จการ ที่ใช้อำนาจในการกดคนไว้ให้กลัว มีท่อนที่ร้องว่า ไม่ว่าคุณจะพยายามทำตัวเป็น minimalist แค่ไหน ถ้าคุณโดนขังอยู่ในคลับนึงแล้วโดนเฆี่ยนตีบ่อย ๆ หรือถูกป้อนความคิดไปเรื่อย ๆ คุณอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แม้จะเอาหุ่นไล่กามาเพื่อทำให้เขากลัวคุณ คุณก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะนั่นเป็นแค่หุ่นไล่กา โดยเน้นย้ำความสิ้นหวังนี้ด้วยท่อนที่ร้องซ้ำ ๆ ว่า ‘Nobody’s gonna give you a damn,’  ไม่มีใครมาให้ความสำคัญกับคุณหรอก

จ้า: ตั้งชื่อให้ล้อกับ Broken Social Scene เพราะชอบวงนี้เหมือนกัน เป็นอีกเพลงที่ลูปและมีความขี้เกียจ ใช้เมโลดี้จากการร้องบ่นเป็นหลัก ไม่ค่อยเป็นคำ

กอล์ฟ: ตอนแรกเล่นเร็วกว่านี้ แล้วมันบอกว่าอยากได้แบบที่มันขี้เกียจ ช่วงแรก ๆ เพลงนี้เล่นสดโคตรเร็วเลย 

ณป่าน: ตอนจบก็ได้มาจากตอนอัด เพราะซ้อมเยอะแล้วมันอื้ออะ ข้อมูลเยอะแล้วจะชอบหลุด เลยมาเป็นเล่นริฟฟ์คล้ายวงเมทัลสักวง แล้ววงเราดันชอบ สัดส่วนนี่อย่างยากเลย จำไม่ได้ละ 

จ้า: เพลงนี้ผ่านการทดลองบนเวทีอยู่หลายครั้ง คือเมื่อแต่งเสร็จก็นำไปลองเล่น แล้วนำมาปรับในห้องซ้อม ดูไม่น่ามีอะไรแต่ใช้เวลาแต่งนานเหมือนกัน ถ้าใครที่ไปคอนเสิร์ต Hariguem Zaboy บ่อย ๆ อาจจะได้ฟังเพลงนี้ในหลายเวอร์ชัน อย่างท่อนนี้หายไปแล้วครั้งนึง อาจจะเอากลับมาทำใหม่อีก แล้วก็มิกซ์โคตรนานว่าจะให้มันออกแบบไหนแล้วดี เครื่องดนตรีมันเยอะ อัดหลายไลน์มาก แล้วพอ Tim Green เอามามิกซ์ก็ส่งให้เรามาปรับตรงนั้น ตรงนี้ ปวดหัวที่สุดละ

Christine Thompson 

เป็นเพลงแรกที่พวกเขาแต่งในการขึ้นอัลบั้มใหม่ โดยตั้งใจให้เป็นเพลงเปิดหัวที่อิงมาจากเพลงร็อก กระชับ ฉับไวแบบพวก no wave 80s

ไม่รู้ทำไมต้องสมมติตัวละครมาเป็นผู้หญิงตลอดเวลา ทำไมไม่เป็นผู้ชายวะ วิชวลมันไม่ได้หรอ เหมือน Alfred Hitchcock ที่เอาผู้หญิงผมทองมาโดนฆ่าตลอดปะ? แต่อันนี้ไม่โดนฆ่านะ เกี่ยวกับชาวไร่ redneck ชื่อ Christine Thompson ที่อยากจะอยู่เงียบ ๆ สงบ ๆ พยายามทำสมาธิกับตัวเอง แต่สุดท้ายก็รู้สึกเหนื่อย เริ่มไม่โอเคกับชีวิต ณ ตอนนั้น ก็เลยอยากที่จะเปลี่ยนตัวเอง

(She Loves Her) Expenzive Hairstyle 

เพลงเดียวกับซิงเกิ้ลที่เคยปล่อยไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่นำมาอัดและมิกซ์ใหม่ โดยริฟฟ์แรกเล่นอย่างนึง แต่พอเข้าห้องอัดแล้วพบว่าเปลี่ยนมาเล่นริฟฟ์นี้แล้วเวิร์กกว่า เป็นไปตามโจทย์ที่วงอยากเอาไปเล่นสดแล้วสนุก ซึ่งพอนำไปเล่นแล้วก็ได้ reaction ของคนดูที่ชัดเจนว่าดูแล้วสนุกจริง ๆ

ผู้หญิงอีกละ จินตนาการว่าเป็นผู้หญิงคนนึงอยู่ในนิวยอร์ก แล้วพยายามทำตัวเป็นไอดอล แต่สุดท้ายการที่คุณทำตัวแพง ๆ หรู ๆ มันก็ไม่ได้ดูมีค่าเท่าไหร่ เมื่อคุณได้รับคำชื่นชมจากเบื้องหน้า แต่เบื้องหลังก็ถูกเอาไปซุบซิบนินทาตามสไตล์เมืองใหญ่อยู่ดี

The Horse Scene 

พวกเขาทำเพลงนี้เสร็จพร้อม ๆ กับตอนที่อัดเพลงที่แล้วเวอร์ชันแรก ตอนนั้นณป่านพกซินธิไซเซอร์ไปด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าเพลง (She Loves Her) Expenzive Hairstyle จะต้องใช้ซินธ์ไหม แต่สุดท้ายก็ไม่มี จึงเอาซินธ์ที่อุตส่าห์ยกมา มาเล่น โดยเอาเอฟเฟกต์กีตาร์ท่อนหลังของเพลงมาต่อกับซินธ์ โดยให้เบสกับกลองเป็นลูปคล้าย Pier No. 41 ช่วงท้ายมีความ industrial จากเสียงแกรนด์เปียโนที่ถูกนำมาเล่น free form แต่ยังมีความติดหู 

จ้า: จริง ๆ เราปรึกษากับ Martin Bisi ที่เป็นคนมิกซ์ว่า ผมอยากให้เขามิกซ์ท่อนคีย์บอร์ดให้ได้ซาวด์แบบเพลงของวง Swell Maps คือมีความโกลาหล เขาก็มีไอเดียของเขา มีเสียงออกหูซ้าย หูขวา มาอยู่ด้วยกันแล้วเป็นความยุ่งเหยิง แต่จริง ๆ แล้วเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายที่ทำจบในอัลบั้ม ด้วยการไปดูในวิดิโอว่าเราเล่นกันยังไง (หัวเราะ)

ณป่าน: ชื่อเพลงม้า เพราะบ้านตวน (Cloud Behind) ที่เราไปอัดกันมันมีโมเดลม้าอยู่ตัวนึง 

จ้า: ตอนนั้นป่านถามว่าถ่ายเก็บไว้มั้ย ก็ถ่ายซูมหน้าม้าในวิดิโอ พอกลับมาดูมันให้ความรู้สึกเหมือนขี่ม้าไปเรื่อย ๆ เราเลยตั้งชื่อนี้ แล้วผมก็นึกถึงหนังของ Robert Altman หนังชื่อ ‘Fool For Love’ (1985) เป็นช่วงที่เขาพยายามทดลองกับหนังตัวเองสุด ๆ คือแทบไม่มีอะไร ถ่ายอยู่ที่โลเคชันเดียวในโมเต็ลกลางแอริโซน่า แล้วก็จำได้ว่าตอนจบของหนังเรื่องนี้ เหมือนผัวเมียที่พยายามง้อกันทั้งเรื่อง อยู่ดี ๆ มีคนนึงลังเลว่า สุดท้ายแล้วมันเป็นพ่อตาของนางเอกหรือเปล่าวะที่มาพูด ๆๆๆ ให้ข้อคิดเป็นครึ่งชั่วโมง แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีชู้ของพระเอกมาตามที่โมเต็ล หน้าตาดูผ่านศัลยกรรมพลาสติกมาเยอะ น่าจะรวย ขับเบนซ์มาตาม เอาปืนกราดยิงในโมเต็ลแล้วขับรถหนีออกไป ทำให้สุดท้ายนางเอกก็ไม่รับง้อ แล้วก็หนีไป สุดท้าย ไอ้ผู้ชายก็ขี่ม้าตามนางเอก หนัง absurd สัส ๆ เลยเอามาแต่งเนื้อเพลงเลย

T.N.T.B. Hurt

เดิมทีวงตั้งใจจะทำให้เป็นอะคูสติกที่เล่นช้ากว่านี้ แต่พวกเขารู้สึกว่าพอเล่นไปแล้วแอบมีความน่าเบื่อประมาณนึง เพราะไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากนอกจากเพลงป๊อปที่มีริฟฟ์กับคอร์ดยาว ๆ และรู้สึกไม่แน่ใจว่าทำแบบนี้จะดีไหม แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นกีตาร์ไฟฟ้าแล้วรู้สึกเข้ากันมากกว่า ไอเดียของสมาชิกทุกคนก็ลื่นไหล สามารถจบเพลงได้ในเวลาอันสั้น

เพลงนี้พูดถึงความสงสัย ว่าเป็นคู่รักกันแต่ทำไมทะเลาะกันบ่อยจัง ไม่ได้เปรียบเทียบกับตัวผมเองนะ ในเพลงมันคือทะเลาะลงไม้ลงมือกันเกือบทุกวันเลย ก็ตั้งคำถามว่าเราเป็นคนที่รักกันจริง ๆ ใช่ไหม Try not to be hurt ก็คือ อย่าพยายามเป็นความเจ็บปวดของกันและกันจะดีกว่า

Baby I’m Done

ณป่านแต่งเพลงนี้เสร็จมาแล้วทั้งเพลง แต่ไฟล์ที่อัดเพลงไว้อยู่ในคอมพิวเตอร์ที่โดนไวรัสเข้า ทำให้พวกเขาต้องมานั่งนึกกันว่าเล่นอะไรไปบ้าง ความที่จ้าชอบเพลงนี้มากจึงจำวิธีการเล่นได้ แล้วนำกลับมาทบทวนกับทุกคนอีกที โดยเพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนที่หมดกำลังใจในความสัมพันธ์ ใช้การเปรียบเปรยว่าความสัมพันธ์ของเราเหมือนคนวิ่งเข้าหากัน แต่พอมองเข้าไปในกระจกแล้ว กลายเป็นอีกคนที่วิ่งตามเราอยู่ และสุดท้ายก็เป็นตัวเองที่วิ่งตามตัวเองอีกทีมันคงจบเห่แล้ว ที่รัก

มีสองเพลงในอัลบั้มนี้ที่อัดลงใน 4-track recorder ของป่าน คือ Bonfire และ Baby I’m Done แล้วเพลงนี้ก็ได้ไอเดียเพิ่มเข้ามาตอนท้าย ๆ ก่อนจะไปอัดคือให้เบนซ์เล่นคีย์บอร์ด และมีกีตาร์สามตัว คือเบนซ์ก็ต้องเล่นกีตาร์อีกไลน์นึงเพราะเพลงนี้ไม่มีเบส ป่านบอกว่าทั้งเพลงมีริฟฟ์กีตาร์เกามาทั้งเพลง ก็จะมีท่อนเปลี่ยนอารมณ์ที่ทำให้ดูโล่งขึ้น ถ้ามีเสียงคีย์บอร์ดหรือออร์แกนคอร์ดเดียวค้างไว้น่าจะดูดี

Hariguem Zaboy

ความที่ ‘John Young Sandwich’ เป็นอัลบั้มความยาว 15 เพลง ถ้ามองจากมุมมองคนนอกอย่างเราคงคิดว่าเป็นอัลบั้มที่ใช้เวลานานมากในการทำ ซึ่งก็ไม่ผิดนัก Hariguem Zaboy บอกว่าพวกเขาใช้เวลาในการเขียนเพลงสั้นมาก เมื่อเขียนจบแล้วพวกเขาก็เอาไปทดลองเล่นสดในทันที แต่พอมาถึงขั้นตอนการอัดนี้เองที่ต้องพบกับปัญหาทางเทคนิค รวมไปถึงเป็นจังหวะที่ณป่านไปบวชเป็นเวลาสามเดือน ทำให้ขั้นตอนการทำงานต้องหยุดพักไปช่วงหนึ่ง

จ้า: ตอนนั้นโทรไปคุยกับกอล์ฟด้วยซ้ำ แบบกอล์ฟ เอาไงดีวะ ป่านไปแล้วว่ะแล้วตอนนั้นกังวลมาก เพราะกำลังทำอัลบั้มแบบเข้าด้ายเข้าเข็มเลย

ณป่าน: พูดตรง ๆ ถ้าไม่ติด Hariguem Zaboy หรืออะไร อาจจะบวชต่อ เพราะช่วงนั้นเข้าพรรษาพอดี แต่ออกมาก่อนดีกว่า เพราะดูทรงแล้วถ้าต่อเข้าพรรษาอีกสามเดือนนี่ กูยาว (หัวเราะ)

จ้า: พอป่านสึกกลับมาก็มีความคิดมากนิดนึง ใช้เวลาประมาณเดือนสองเดือนจนกลับมาเหมือนเดิม คือต้องใช้วิธีจัดงานเล่นบิลด์ตัวเอง แต่หลังจากป่านบวช สังเกตว่าเขา active กว่าเดิม ทั้งเรื่องวง Scoutland และการที่เขาพยายามทำงานศิลปะเยอะกว่าเดิม

ณป่าน: มีอีกช่วงนึงเหมือนเราเล่นเยอะจัด ก็หงุดหงิดตัวเองจนต้องหยุดไปอีกรอบ เหมือนหัวมันไม่ค่อยโล่ง

กอล์ฟ: จะมีช่วงที่เข้าห้องอัดหนัก ๆ แล้วเวลาไปเล่นคอนเสิร์ตฟีลก็ไม่ได้เหมือนกัน รู้สึกว่าเฮ้ย มันไม่ได้ว่ะ ช่วงนี้อย่าเพิ่งเล่นเลยเหมือนเราไม่ได้ซ้อมเพื่อมาเล่น เราซ้อมเพื่อเข้าห้องอัดมากกว่า

จ้า: อัลบั้มนี้เราพยายามจะสร้างโจทย์ให้ตัวเองแล้วทำ ไม่ใช่โจทย์เกี่ยวกับเพลงนะ แต่เป็นโจทย์เกี่ยวกับอารมณ์ภายนอก ความที่เราอัดสด เราเคยคิดว่าถ้าเล่นบ่อย ๆ ก่อนเข้าห้องอัดจะได้ไม่ต้องซ้อมมาก แต่บางทีมันมีงานเข้ามาให้เล่นเยอะ ๆ มันก็จะล้าไป เพลงก็เริ่มไม่สด ทำให้กลายเป็นความกังวลมากกว่าความมั่นใจ ไม่เวิร์กสำหรับจะพกฟีลนั้นไปห้องอัด เลยไม่เอาดีกว่า คราวนี้เวลาเราซ้อม เราจะตั้งเป้าว่าโฟกัสกับเรื่องอะไร อย่างเราซ้อมเพื่ออัด ไม่รับงานเล่นมาก จะได้เก็บพลังงานของการเล่นสดมาใช้ในห้องอัด ก็ต้องสู้กับตัวเองประมาณนึง

แผ่นเสียง John Young Sandwich - Hariguem Zaboy ที่ไม่อยากให้คุณลืมความสนุกของดนตรีร็อก

คิดว่าตอนนี้ Hariguem Zaboy อยู่ใน category ไหนของวงการดนตรี

จ้า: เราจัดตัวเองไว้ในพวก underground เป็นวงที่ยังมีกลิ่นเหงื่อไคล ยังทำตัวบ้าน ๆ อยู่ และเล่นดนตรีที่มีความไม่หล่อ เราไม่ดังด้วยเพลงที่เราทำ แต่เราก็ไม่ได้อยากจะเป็น somebody เรายังเป็นวงแบบที่เราอยากจะเป็น อยากทำเพลงที่คนสนุกได้ด้วย pure energy ที่เขาพกมาจากบ้าน มางานคอนเสิร์ตเราก็อยากให้เขาสนุก กลับบ้านมีแต่กลิ่นเหงื่อ คนเล่นก็มีกลิ่นเหงื่อกลับบ้าน แบบที่เรายังเป็นคนพวกนั้นอยู่

ความรู้สึกของทุกคนหลังอัลบั้มJohn Young Sandwich’ เสร็จเรียบร้อย

ณป่าน: เหนื่อย

จ้า: ยาวนาน มันยาวนานแบบไม่ได้ต่อเนื่อง มีช่วงพัก ช่วงเหยียบคันเร่ง ช่วงผ่อนคันเร่ง ช่วงเปื่อย แต่ช่วงที่เหนื่อยก็เหนื่อย ผสมปนเปกันไปตามโจทย์ของชีวิต

ณป่าน: อย่างช่วงที่ทำเสร็จก็มีโควิดมาเซอร์ไพรส์ 

จ้า: มันน่าเสียดายตรงที่มันมีโควิดเนี่ยแหละ ก่อนที่จะมีโควิดเราวางแผนไว้แบบนึง ตอนนี้เราไม่ได้ทำต่อกับ Panda Records แต่เราก็ไม่ได้อยากอยู่ค่ายไหนในเมืองไทยเป็นพิเศษด้วย เราอยากส่งให้ต่างประเทศฟังดูว่าจะมีที่ไหนเขาจะสนใจให้เราออกเพลงกับเขาไหม แต่พอโควิดมาทำให้เราสับสนจริง เพราะมันทำให้โอกาสในการออกเพลงกับต่างประเทศยากขึ้นด้วย อย่างก่อนหน้านี้มีหลายค่ายที่สนใจจะออกให้เรา เขาก็มีความลังเลมากขึ้นเพราะถ้าเขาเป็นคนออกทุนให้เราตอนนี้ เราก็ไปทัวร์สนับสนุนที่อเมริกา ที่ฝรั่งเศส เพื่อที่จะขายอัลบั้มให้เขาไม่ได้อยู่ดี มันจะโปรโมทยากขึ้น ซึ่งมันมีหลายค่ายมากในเมืองนอกที่บอกเลยว่าปีนี้ปิดรับศิลปิน จะไม่ปล่อยอะไรไปมากกว่างานที่เขาเตรียมจะออกอยู่แล้ว

พอมีโควิดมาเราก็ต้องวางแผนใหม่เพื่อจะรองรับการปล่อยอัลบั้มนี้ อย่างที่บอกว่าเราอยากทำเพลงให้คนดูได้สนุกแท้ ๆ แต่เสือกไม่มีคอนเสิร์ตให้เล่น ตอนแรกลังเลด้วยซ้ำว่าอย่าเพิ่งปล่อยไหม พอหมดโควิดแล้วค่อยปล่อย แต่มันก็ไม่ได้ เราต้อง move on ปล่อยอันนี้แล้วทำอัลบั้มต่อ มันเป็นสเต็ปของวงดนตรี

กอล์ฟ: ถ้าไม่มีโควิดก็สบายกว่านี้เยอะ

ณป่าน: แต่ในแง่การทำเพลงกับ Hariguem Zaboy ก็เหมือนเดิมทุกอัลบั้ม มันก็ยังมีความรู้สึกเหมือนเดิมคือได้ทำเพลงกับเพื่อน แค่เพลงมันจะเปลี่ยนไปด้วยช่วงวัยของทุกคนก็เปลี่ยนไป 

เบนซ์: ความรู้สึกของเราที่มีต่ออัลบั้มนี้… ตอนนี้ทุกคนก็คงพูดไปหมดแล้วล่ะครับ (หัวเราะ) แต่ว่าผมก็ เวลาไปห้องซ้อมก็จะคอนสนับสนุนป่าน จ้า กอล์ฟ คอยฟัง ๆ ทุกคนก่อนแล้วค่อยใส่ไปทีหลัง  

จ้า: อือ ก็เหมือนเดิม แต่งเพลง แต่งเพลง เอาไปเล่น เข้าห้องอัด ออกอัลบั้ม แต่มีแค่โควิดมาคั่นเท่านั้นแหละ มีช่วงนึงที่บ่นกันชิบหายเลยว่าไม่อยากเล่นคอนเสิร์ต เบื่อ เล่นแล้วไม่เวิร์ก แต่ตอนนี้โคตรอยากเล่นคอนเสิร์ตเลย ถ้าสมมติเพลงเสร็จแล้วขายอัลบั้มนี้ออกมาโดยที่เราไม่ได้เล่นคอนเสิร์ตเลยมันก็รู้สึกแปลก ๆ ถูกไหม ผมว่าทุกคนคิดเหมือนกัน การได้รับกระแสตอบรับในอินเทอร์เน็ตในด้านอัลบั้ม มันคนละแบบกันกับการได้รับเสียงตอบรับจากการเล่นคอนเสิร์ต ที่เราจะได้บรรยากาศตรงนั้น (กอล์ฟ: ได้คุยกับคนฟัง) ได้เห็นปฏิกิริยาของคนหน้าเวที ยังไงดนตรีต้องมีตรงนี้ ไม่มีการเล่นคอนเสิร์ตไม่ได้หรอก

 

ซีดี Hariguem Zaboy – John Young Sandwich

CD John Young Sandwich - Hariguem Zaboy

เทป John Young Sandwich

เทปคาสเซ็ท John Young Sandwich

สามารถรับฟังและซื้ออัลบั้ม ‘John Young Sandwich’ แบบดิจิทัลได้บน Bandcamp แล้ววันนี้ และใน streaming ต่าง ๆ วันที่ 19 มีนาคม เป็นต้นไป หากใครอยากจับจองเทป ซีดี และไวนิล สามารถเข้าไปสั่งได้ที่ inbox FACEBOOK หรือ Flaxxist Records ได้เลย

ขอขอบคุณ ภาพจาก Hariguem Zaboy และ Flaxxist Records

 

John Young Sandwich - Hariguem Zaboy มีเพลงอะไรบ้าง รีวิว ‘Track by Track’ เจาะลึกครบทั้งอัลบั้ม 15 เพลง

1.Bonfire
2.The Dell
3.Mind Triggers
4.No Services
5.Pier No. 41
6.Say Goodbye to Margot
7.South Pole
8.The Teenage Letter
9.Live Wires
10.Broken Facial Scene
11.Christine Thompson
12.(She Loves Her) Expenzive Hairstyle
13.The Horse Scene
14.T.N.T.B. Hurt
15.Baby I’m Done

รายชื่อสมาชิกวง Hariguem Zaboy มีใครบ้าง

รายชื่อสมาชิกวง Hariguem Zaboy มีใครบ้าง ณป่าน พิชัยกุล (ณป่าน) กีตาร์ กรรณตนพ ตันเจริญ (กอล์ฟ) กลอง รังสิมันตุ์ สุวิรัตนภัส (จ้า) กีตาร์, ร้องนำ รัตนพงษ์ พุ่มลอยฟ้า (เบนซ์) เบส

1.ณป่าน พิชัยกุล (ณป่าน) กีตาร์
2.กรรณตนพ ตันเจริญ (กอล์ฟ) กลอง
3.รังสิมันตุ์ สุวิรัตนภัส (จ้า) กีตาร์, ร้องนำ
4.รัตนพงษ์ พุ่มลอยฟ้า (เบนซ์) เบส

แง้มประตูห้องซ้อมดนตรี Music Group  บ้านหลังที่สองของนักดนตรีอิสระ

เพลงไทยน่าเบื่อ! หรือ Music Journalist ไทยกำลังจะสูญพันธุ์

About the author

อิ๊ก พนักงานประจำที่เขียนบทความดนตรีในเวลาว่าง หรือถ้าไม่ว่างก็สันนิษฐานได้ว่าจะพบเธอที่คอนเสิร์ตหรือปาร์ตี้