Faustus วงร็อก 3 ชิ้นที่ไม่ยึดติดกับแนวดนตรี และเชื่อว่าซีนดนตรีไทยจะยิ่งใหญ่ได้ถ้าทุกคนเชื่อเหมือนกัน

1791

Faustus วงดนตรีที่ได้เข้าชิง ‘ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม’ “คมชัดลึกอวอร์ด” ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา หากใครได้ติดตามคงพูดตรงกันว่าสาขาเพลงไทยสากลปีนี้น่าตื่นเต้นมาก เรียกได้ว่าเอาใจคนรักการฟังเพลงนอกกระแสสุด ๆ ไม่ว่าจะรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมที่มีทั้ง Ui อัลบั้มที่สามของ Summer Dress หรืออัลบั้มแรกของ Taitosmith ที่ใช้ชื่อวงเป็นชื่ออัลบั้ม หรือรางวัลศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยมก็มีแต่ชื่อที่คุ้นเคยอย่าง Abstraction XLSrirajah Rockeres และ The Darkest Romance

แต่อีกหนึ่งรางวัลที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยคือ ‘ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม’ ซึ่งเราดีใจมากที่มี Faustus อยู่ในรายชื่อเข้าชิงด้วย แม้พวกเขาจะมีโอกาสได้เข้าชิงในฐานะศิลปินหน้าใหม่ แต่ส่วนตัวเรารู้จักพวกเขามา 2 ปีแล้ว

 

ย้อนกลับไปงาน Bangkok Music City ครั้งแรกในปี 2562

เราเพิ่งรู้จักวง แต่การได้เห็นจินซังและแวนบนเวทีอีกครั้งทำให้เราตื่นเต้นมาก ๆ แถมการได้เห็น โม อดีตสมาชิก Jelly Rocket กลับมาเล่นดนตรีอีกครั้งก็ทำให้เราอดใจรอโชว์ของพวกเขาไม่ไหวแล้ว Faustus คือวงสามชิ้นที่บรรเลงร็อกออกมาได้อย่างลงตัว ยิ่งผสมกลิ่นอายของความเป็น math rock ลงไป ทำให้เราถูกสะกดตั้งแต่เพลงแรกด้วยเมโลดี้อันเดือดดาลที่ปะทะกันกลางอากาศอย่างบ้าคลั่ง การสร้างสรรค์ภาษาทางดนตรีที่ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ใด ๆ จนไปแตะความเป็นแจ๊สได้อย่างเหนือชั้น ดนตรีของพวกเขามีเสน่ห์และพลังอย่างรุนแรงบนเวทีและแสงไฟสลัว ๆ

หลังจากผ่านไปเพียงปีเดียว พวกเขาก็ปล่อยอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกของพวกเขาอย่าง A Collection of Tonal and Aural Movements Constituting a Creation of Which Persons Can Derive Pleasure and Amusement อัดแน่นไปด้วยเสียงดนตรีอันน่าหฤหรรษ์ทั้ง 11 แทร็ก ที่ไม่มีอะไรมาจำกัดความแนวดนตรีของพวกเขาได้ ทั้งสามแค่รังสรรค์มันขึ้นผ่านประสบการณ์และความเชื่อใจกัน จนกลายเป็นรถไฟเหาะทางโสตประสาท

ลองไปทำความรู้จักพวกเขาทั้งสาม ก่อนที่ Faustus จะกลายเป็นอีกหนึ่งวงโปรดของเรา

สมาชิกวง Faustus
แวน— (เบส)
โม—ชุติกาญจน์ อิสสระเสรี (กีตาร์)
จิน—จิน เซนทาโร่ (กลอง)

*หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้ถูกบันทึกไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2020*

รูปสวย ๆ ของวง

การรวมตัวของทั้งสามคนเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าแต่ละคนเคยทำวงอะไรมาก่อน แล้วมารวมตัวกันได้ยังไง

แวน: สมัยก่อนมี Degaruda กับ aire ก็เลยเจอจิน 

จิน: ก่อนหน้านี้มี aire และก่อนหน้านั้นอีกก็มีอีกวงหนึ่งที่ทำกับคนญี่ปุ่นนะครับ แล้วก็ตอนที่อยู่ญี่ปุ่น เราก็เล่น Hard Core, Alternative Rock ประมาณนี้ โดยรวมน่าจะประมาณ 6-7 วงครับ 

โม: เคยเล่น Jelly Rocket ค่ะ แล้วก็ได้เจอพี่จินกับพี่แวน ตอนได้เล่นงานเดียวกันกับ aire แล้วก็มาเล่น Faustus

วงนี้มันฉีกจากสไตล์ที่โมเคยเล่นเลย หรือว่าจริง ๆ แล้วชอบสไตล์นี้อยู่แล้ว

จิน: เหมือนเราชวนโม มาก่อน จำได้ว่าโชว์สุดท้ายของไอเร่ เขาเล่นกับ Jelly Rocket ที่ขอนแก่น คือผมอยากทำวงใหม่ เราก็ชวนแวน แล้วเราก็กำลังหามือกีต้าร์ครับ แต่ก็อยากได้คนที่มีประสบการณ์พอสมควร แล้วก็เล่นเก่ง แต่ว่าไม่ใช่แค่เล่นเก่งนะครับ เราอยากได้คนที่เล่นดี แล้วก็มันสำคัญที่สุดคือแวนชอบเขาหรือเปล่า (หัวเราะ) เรารู้อยู่ว่าโมชอบอะไรนะ

โม: คือเราก็ชอบฟังไปในค่อนข้างที่ POP, POP ROCK, INDY POP 

จิน: เราก็รู้ว่าโมเล่น Jelly Rocket มา ถ้าเรามาถามโม โมก็มาแจมกัน 

ทำไมถึงตกลงมาร่วมวง 

โม: รู้ว่าเขาเล่นเพลงบรรเลงกัน เราก็รู้สึกว่าน่าจะได้ลองอะไรใหม่ ๆ เพราะเราไม่เคยเล่นเพลงบรรเลงเลยด้วยก็เลยลองไปดู จำได้ว่าไปซ้อมครั้งแรกถามว่า ต้องแกะเพลงอะไรไปไหม จินบอกว่าไม่ต้องทำอะไรมากับกีต้าร์ แจมเลย

การแจมกันครั้งแรกเนี่ยมันเป็นยังไง

แวน: ตั้งแต่ aire แล้วคิดว่ามันต้องแบบนั้นแบบนี้ แต่จริง ๆ เราไม่เคยยึดติด ที่เราแจมกันครั้งแรกที่เรียกโมมา คือเรารู้ว่าโมเขาเป็นดนตรีอีกแบบหนึ่ง มันก็เหมือนเขาเป็นคนละสไตล์กับเรา เราต้องการจะเอา 2 สิ่งนี้มาเจอกัน เราต้องการจะรู้ว่าเมื่อ 2 สิ่งนี้มาเจอกันมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะพยายามไม่บอกโมเลยว่าเราจะทำอะไร เราอยากจะแค่ เฮ๊ย ถ้าแวนกับจิน ทำแบบนี้ โมเขาจะปฏิกิริยาเป็นอย่างไร เราก็เลยไม่ได้ให้โมเตรียม Math มานะเว้ย เตรียมเครื่องคิดเลขมาด้วยนะเว้ย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นมันไม่มี จนถึงวันนี้ เราก็ไม่เคยเป็น Math หรือว่าอะไร โดยเฉพาะผมนี่เล่นกับจินมานาน มันไม่เคยมีใครที่เป็น Math แต่พอเราเล่น 4/4 แล้ว จินเขาจะ อ๋อ ผมได้ยินเป็น 16/38 อันนั้นมันเป็นอินเนอร์ของเขา แล้วเราก็อยากจะได้อินเนอร์ของโม นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราเรียกโมมา และเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงเล่นกันถึงตอนนี้ มันไม่ได้เป็นเพราะเฮ๊ยโมเขาเข้ารูปเข้ารอย เราไม่ได้ต้องการอะไรเลย ในความเป็นนักดนตรีมันเหมือนคนทำอาหาร คนทำงานศิลปะ เราอยากจะรู้ว่าเฮ๊ย เอาสีนี้ ไปผสมสีนี้ มันจะได้สีอะไรวะ มันอารมณ์แบบนั้นมากกว่า

ซึ่งทุกเพลงเกิดมาจากการทดลองหมดเลย

โม: ส่วนใหญ่ มาจากพี่จินเริ่มกลอง กับ เริ่มโครงเพลงท่อนมา แล้วเราก็จะมาแจมรายละเอียดกันในห้องซ้อม ส่วนใหญ่เพลงจะจบในห้องซ้อมซะมากกว่า สำหรับบางเพลงที่ยังไม่ครบ มาเรียงท่อน มาจับนู่นจับนี่แล้วค่อยรวมไอเดียกัน

โมต้องปรับตัวนานไหม กว่าจะจูนเข้าหา 2 คนนี้

โม: นาน (หัวเราะ) แต่รู้สึกว่าสนุกนะ เหมือนเล่นเกม เหมือนทำไม่ได้นับไม่ได้ 7/8 นับไม่ได้ นับ 7 ไม่ได้ แต่ก็รู้สึกท้าทายมากว่ามันทำยังไง แล้วก็สนุกกับมันว่ากูต้องทำให้ได้ คือช่วงทำเพลงน่ะ ก็ต้องฝึกนับ แล้วส่วนใหญ่แจมเอาในห้องซ้อมส่วนใหญ่จบที่ห้องนั้น ถ้าเป็นการบ้านก็ฝึกนับให้เข้าใจจังหวะ ให้เปลี่ยนทัน ให้มันนับได้ 

โม — ชุติกาญจน์ อิสสระเสรี (กีตาร์) มือกีตาร์ FAUSTUS  อดีตสมาชิก Jelly Rocket

แล้วการทำงานในอัลบั้มแรกเป็นยังไง กับสิ่งที่เราทดลองมา 

โม: วงนี้โครงกับท่อนหลัก ๆ มาจากพิ่จิน แต่เป็นการทำเพลงที่เราและคนรอบตัวเราไม่เคยมีใครทำแบบนี้เลย มันคือการย้อนกลับไปยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ที่เขาทำเพลงกันในห้องซ้อม แล้วเราเชื่อว่ายุคนี้มันไม่ค่อยมีวงไหนเลือกที่จะแต่งเพลงในห้องซ้อมแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่โชคดีที่ได้มาลอง เพราะว่าก็คงไม่มีใครมาลองกับเราแบบนี้ เป็นประสบการณ์

แวน: ส่วนตัวผมไม่มีอะไร เพราะผมกับจินเล่นด้วยกันมานานแล้ว แล้วก็ค่อนข้างรู้ทางกันในระดับหนึ่ง และได้ส่วนโมมาเติมเข้าไป และมันก็เป็นสิ่งที่ผมยินดีมาตลอด ก็เปิดรับว่าโมอยากจะเล่นอะไรเล่นเลย อาจจะมีพูดในฟิลลิ่งของเราหน่อยว่าถ้าแบบนี้มันจะดีไหม ยิ่งผมเป็นคนเล่นเบสมันก็ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ เป็นวงแรกที่ผมทำเป็น 3 ชิ้น ในฐานะมือเบสนะ ผมจะห่วงว่าจะเติมเต็มเพลงยังไงไม่ให้มันโหวงเหวง ในเชิงที่เราเล่นเบสโดยที่มันไม่มีกีตาร์ลิธึ่มหรือคีบอร์ด เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้มันอิ่มกว่านี้ ผมก็จะห่วงเรื่องนั้นมากกว่า ส่วนตัวจะห่วงเรื่องซาวด์มากกว่าว่าจะทำยังไงให้มันใหญ่ ๆ อิ่ม ๆ เยอะ ๆ บางทีถ้าโมเขาต้องโซโล่ ต้องเมโลดี้อย่างนี้ มันจะมีหุบเขาระหว่างเขากับริธึ่ม เราจะต้องทำยังไงที่จะต้องเข้าไปเติมตรงนั้น ผมจะห่วงเรื่องนั้นมากกว่า เรื่องแต่งเพลงปล่อยเขา 2 คนไป

จิน: ความท้าทายส่วนตัวนะครับ ในอัลบั้มมี 11 เพลง แล้วเมื่อก่อนเวลาผมแต่งเพลงนะครับ เราก็แต่งเพลงโดยที่ไม่ได้คิดอะไร คือจับกีต้าร์ แล้วก็เล่น ๆๆๆ พอรู้สึกว่า เอออันนี้ทำนองดี ก็เอามาเป็นเพลงเลย แต่คราวนี้เราคิดก่อนว่าถ้า  เพลงทั้งหมดมันอยู่ที่ประมาณ 100–120 bpm โดยที่ผมฟัง 11 เพลงความเร็วคล้าย ๆ กัน เขาก็จะรู้สึกว่าเพลงเดิม ๆ ไหม คราวนี้พอเราเลือกแต่งเพลง เราก็จะฟิกไว้ก่อนว่าความเร็วประมาณนี้ ถ้า 60 อันนี้ 70 อันนี้ ถ้า 160 ก็อยากให้มีความหลากหลายใน 11 เพลง  

เพลงที่เป็นเป็น instrument ในฐานะคนแต่งเพลง เราจะเล่าเรื่องอะไรไหม

จิน: ไม่ค่อยครับ ใช้เวลาตั้งชื่อแทนมากกว่า แต่เรามีเพลงมาก่อน แล้วพอเราเล่นไปเล่นมา แต่ละคนรู้สึกอะไรจากเพลงนี้ เราค่อย ๆ ตั้งชื่อเพลงนี้ว่าชื่อเพลงอะไรครับ 

โม: มันไม่มีสตอรี่เบื้องหลังค่ะ แต่ว่าเพลงที่แต่งอ่ะ เรามีไกด์อารมณ์ของท่อนมากกว่า ว่าท่อนนี้อยากให้เป็นยังไง ท่อนนี้ใหญ่ ท่อนนี้แรง ท่อนนี้เบา ท่อนนี้บิ้วยังไง ก็คุยกันเป็นไกด์ไลน์ของไดนามิคเพลงมากกว่า

“เรารู้สึกว่าราคาเครื่องดนตรีไทยมันแพง นักดนตรีเอง  ถ้าสมมุติเครื่องดนตรีในไทยมันซื้อง่าย จะมีนักดนตรีมากขึ้น วงมากขึ้น วงการมันจะโตกว่านี้”

เราเป็นศิลปินที่แนวเพลงเฉพาะทางขนาดนี้ คนฟังในตลาดนี้มีเยอะแค่ไหน มันโตจริง ๆ ไหม

จิน: อันนี้ส่วนตัวนะครับ โดยเฉพาะผมดูวงการอินดี้ญี่ปุ่น แล้วก็ไต้หวัน ผมรู้สึกว่าวงไทยก็มีเอกลักษณ์ค่อนข้างสูง วงที่อยู่มานานเขามีเอกลักษณ์ค่อนข้างสูงนะครับ แต่ยุคใหม่ ๆ เขาอาจจะมีอินเทอร์เน็ตด้วย อันนี้มันมีข้อดีด้วยข้อเสียด้วย เขาได้ทักษะจากหลาย ๆ คน จนออกมาคล้าย ๆ กันไปหมด เลยรู้สึกว่ายุคเก่า ๆ ของวงการอินดี้ไทย มันมีเอกลักษณ์กว่า แล้วเรื่องทักษะคนไทยไม่แพ้ทั่วโลก แต่เสียดายที่เรารู้สึกว่าราคาเครื่องดนตรีไทยมันแพง นักดนตรีเอง  ถ้าสมมุติเครื่องดนตรีในไทยมันซื้อง่าย จะมีนักดนตรีมากขึ้น วงมากขึ้น วงการมันจะโตกว่านี้ 

โม: จริงนะคะ อย่างของมือสองประเทศเราก็ถือว่าน้อย แล้วราคาก็ไม่ได้ถือว่าถูกถึงระดับเด็กเก็บตังซื้อได้ เด็กที่จะเริ่มเล่นมันก็ยากกว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี 

จิน: ผมว่าวงดนตรีไทยค่อนข้างเยอะ และคนฟังเพลง อินดี้ก็เยอะ แต่ว่าทั้ง 2 ฝ่าย ได้เจอกันมันน้อยมาก Live House ที่วงอินดี้เล่นเพลงของตัวเองได้มันน้อยมาก ๆ อันนี้มันเป็นปัญหา เป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้มา 20ปี 30ปี แล้วนะครับ

โม: โอกาสในการจับต้องมันยากกว่า Live House แล้วกฎหมายต่าง ๆ เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่มีคอมมูนิตี้ ไม่มีพื้นที่ให้เล่น เหมือนอย่างเราไปเรียน แล้วรอวันที่จะได้เล่นงานโรงเรียน แล้วพอตอนนี้คนมีเทรนด์การเล่นดนตรีเอง แล้วไม่มีที่แสดงออก มันก็ยากในการคอนเน็ค แล้วก็ยากในการเกิดอะไรใหม่ ๆ เพราะว่าวงที่โตแล้วค่อนข้างที่จะมีโอกาสมากกว่า

แวน: ผมเล่นดนตรีในไทยมาตั้งแต่อายุ 16-17 เล่นมาเกือบจะ 20 แล้วมั้ง ก็เห็นได้ชัดเจนมาก ๆ ว่ามันโต ในช่วง 15 ปีแรก ๆ มันจะมาเป็นคลื่น ๆ มันจะมีพีค ๆ หน่อย เฮ๊ย ช่วงนี้วงเยอะ คนชอบดูแต่มันก็จะหาย ๆ ซา ๆ ไป แต่สังเกตุ 5-6 ปีที่ผ่านมามันอยู่ตัวละ แล้ววงก็คุณภาพดีขึ้นมาก ๆ ผมน่ะค่อนข้างมั่นใจมากกว่ามันโต 

แต่ส่วนหนึ่งที่อาจจะพูดในเรื่องที่ไม่พอใจ ผมกับจินก็เล่นดนตรีกันมานาน และไปญี่ปุ่นกันมาหลายรอบแล้ว ผมก็ติดตามซีนอเมริการเยอะ แล้วก็ไปเล่นมาเลย์ เล่นสิงคโปร์มาก็บ่อย ผมว่าวงไทยน่ะ มันก็ไม่ต่างกับเรื่องเครื่องดนตรีมะกี๊เท่าไหร่ เรามีโอกาสไปต่างประเทศน้อย เรามีโอกาสสัมผัสดนตรีที่เป็นเหมือนเราน้อย ไม่ใช่วงดัง ๆ นะ ไม่ใช่ วง The Killers มาเล่นในไทย ไม่ใช่วง The Rolling Stones มาเล่นในไทยแบบนั้นนะ พวกนั้นเขาคนละเรื่องกันครับ มันเหมือนว่าเราไปเทียบตัวเองกับ Big Ass มันไม่ใช่เราเป็นอินดี้ เราอยู่ตรงนี้ เราต้องเทียบตัวเองกับคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา

ผมว่าคนไทยเรายังไม่ค่อยได้มีโอกาสไปสัมผัสซีนที่เหมือนคนไทยที่อื่น พวกบทเรียนที่ซีนอื่น ๆ เขาต้องเรียนน่ะ เราต้องมานั่งเรียนกันใหม่ แล้วเราต้องไปเดินผิด เดินพลาด เดินหกล้ม ทั้ง ๆ ที่ถ้าเกิดเราได้ไปสัมผัสที่อื่น เราก็จะอ๋อ เขาเป็นอย่างนี้ โอเค เราจะได้ไม่ต้องแบบนั้นแบบนี้ แต่โอเค สุดท้ายมันก็เป็นธรรมชาติของที่นี่เราจะต้องโตยังไงเราก็ต้องโตอย่างนั้น แต่บางทีผมก็มีความเสียดายว่า เฮ้ย อันนี้กูเคยเห็นแบบนี้ แล้วมันทำอย่างนี้ก็ได้

ผมขอระบายเลย อีกเรื่องหนึ่งก็คือ พอซีนมันใหญ่ ผมดีใจมากนะ เดี๋ยวนี้มี Bangkok Music City มี Cat Expo มี Paradise Fest ที่เป็นดนตรีนอกกระแส ผมดีใจมาก สุด ๆ ที่มันมีเวทีให้วงเล็ก ๆ ได้ขึ้นไปเล่นเวทีใหญ่ ๆ  คนดูก็เยอะ แต่ในขณะเดียวกันมันเกิดความแตกแยกในวงการดนตรี มันเกิดการแบ่งซีนแบ่งสไตล์กันออกมาซึ่งมันไม่จำเป็น มันไม่จำเป็นจริง ๆ เท่าที่ผมเห็นในประเทศอื่น เท่าที่เคยไปสัมผัสมา ประเทศที่เขาแตกกันมันก็ทำให้ซีนเขาอ่อนลง แล้วก็ยังมีประเทศที่ยังฟังทุกอย่างโอเคอยู่แล้วเขาแข็งแรง

ฉะนั้นผมอยากให้คนไทย วงในไทยเนี่ยเข้าใจในส่วนนี้ว่าเราไม่ต้องแบ่งกัน เช่นถ้าคุณฟังเพลงวงเรา เรามีโมที่ไม่ได้ฟังเพลงอีรุงตุงนังเราก็ทำด้วยกันได้ แล้วมันก็ทำให้เกิดอะไรใหม่ ๆ ได้ ทำอะไรที่มันกลายเป็นเอกลักษณ์ของวงเรา ของซีนด้วยซ้ำ อย่างในงานนี้ผมก็เจอหลายคนที่เขาอยู่ในวงพังค์แล้วเขามาดูงานอินดี้ ซึ่งส่วนมากก็ยังเป็นวงร็อคแอนด์โรลอยู่ ทำไมเราจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ จริง ๆ ตอนซีนไทยยุคผมเริ่ม ๆ 16-17 ด้วยความที่สมัยนั้นหนึ่งโชว์มันคือ 30 วง 30 แนวเพราะมันไม่มีที่เล่น แต่มันแม่งโคตรสนุก แล้วผมเชื่อว่าวันนั้นน่ะมันเป็นพื้นฐานว่า ทำไมเราถึงมีวันนี้ คนเหล่านั้นอาจจะไม่มีใครจำก็ได้แต่เขาทำให้มีที่เล่น เกิดความตื่นรู้ในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นผมไม่อยากให้เสียตรงนี้ไป มันโตน่ะโตจริง แต่ผมไม่อยากให้เราไปเราไปเจออะไรที่มันขาดทั้ง ๆ ที่มันไม่จำเป็น

อยากได้ความเห็นของแต่ละคน อย่างเราเป็นคนที่อยู่ในซีนด้วย เรามีอะไรที่จะช่วยให้ซีนมันแข็งแรงกว่านี้ได้

แวน: ก็แค่อย่าแตกแยกกัน ไม่ใช่ว่าต้องเห็นด้วยกันไปทุกเรื่อง แต่ถ้าเราเข้าใจว่าสุดท้าย เราไม่ได้เป็นวงที่อยู่ค่ายใหญ่ก็อย่าไปถือเนื้อถือตัวอะไรมาก ก็แค่งานที่ต้องเล่นแบบนี้ก็เล่นแบบนี้ไป เราต้องไปเล่นกับวงที่เราไม่ชอบ เราก็แค่ซัพพอร์ตเขา ทั้ง ๆ เป็นซาวด์ที่เราไม่ชอบ ผมดูหลาย ๆ วง นี่ไม่ได้เฟคนะ แต่ก็เฟคมาก (หัวเราะ) ผมไปฟังซาวด์เขา แล้วผมดีใจในโมเมนต์นั้นน่ะผมได้ดูดนตรีสดจากคนไทยด้วยกัน ผมเข้าใจแหละว่าเขารักในเพลงที่ผมไม่ได้รักน่ะ แต่เขารักในเพลง ผมขอแค่ตรงนั้นผมพร้อมที่จะยืนหน้าเวทีทุกวัน เพื่อที่จะให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะทำแบบนั้น ผมต้องการแบบนั้นมากกว่า 

โม: ทุกอย่างมันเริ่มจากคนฟังนะ อย่างที่ว่าแหละเราไม่สามารถต้านกระแสได้ว่าโลกนี้คนกำลังอินกับอะไร บางแนวบางอย่างที่คนไม่ได้สนใจ แต่เขายังรักการทำในแนวที่ไม่ได้อยู่ในกระแส ก็อยากให้มีพื้นที่ให้เขาได้โชว์ เหมือนไปแทรก ๆ ในงานของวงใหญ่ จริง ๆ มันคือผู้จัดป่ะ ในการดึง ในการเฟ้น แต่เราว่ามันก็ดีขึ้นเยอะแล้วนะ มี Maho Rasop ด้วย ดีมากเลยนะ ถ้าเทียบตอนเราเด็ก ๆ มันไม่ได้หลากหลายเท่านี้ แล้วเราก็รู้ว่าผู้จัดดนตรีไม่ได้กำไรมากอยู่แล้ว ในการจัด ก็ถือเป็นโอกาสที่เราได้ไปดู

จิน: ก่อนที่จะทำให้วงการแข็งแรง ผมอยากให้เกิดวงการดนตรีมากขึ้น อย่าง Live House เท่าที่ผมดูมา ยกตัวอย่างญี่ปุ่นนะครับ ชิบุยะหรือชินจูกุ แค่ในเมืองเขาก็มี 10ที่ 20ที่เลยครับ แต่ละที่เขาก็มีเอกลักษณ์ เช่นที่นี่เป็น Live House ที่มีแต่วงร็อค ที่นี่มีป็อป มีพังค์อะไรต่างหาก และแต่ละ Live House นั้นก็มีวงใหม่ด้วย วงใหญ่ด้วย เล่นที่เดียวกัน ซึ่งมันทำให้ซีนของเขาแข็งแรง คือตอนนี้ที่ไทยบางที่นะครับ พวก Speaker Box พวก Jam ก็มีอยู่ แต่ว่าเรายังรู้สึกว่ามันน้อยอยู่ โดยเฉพาะพวกต่างจังหวัด เราอยากให้มีทุกจังหวัดมีอย่างน้อย 1 ที่ ไม่งั้น ขอให้มีงานใหญ่ 1ที่ 2ที่ ก็ดีครับ 

โม: ถ้าเทียบกับต่างประเทศสามารถทำได้ อาจจะด้วยการบริการหรือค่าครองชีพที่สูง แต่พอมาที่นี่ค่าครองชีพมันต่ำกว่ามาก แต่ต้นทุนโมว่าน่าจะเท่ากับต่างประเทศเลย ค่าซื้อ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ เราจ่ายเงินเท่ากันอยู่แล้ว ค่าไฟ ค่าจัดการ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ ค่าสปอนเซอร์ ค่าใช้จ่ายเท่ากัน ราคาบัตรจะขายได้เท่าไหร่ จะเป็นงานฟรีได้ไหม แต่คนที่มาดูดนตรีน่ะค่าครองชีพเราไม่เท่าเขา  ดีมานด์ ซัพพลายมันไม่เท่ากัน เราว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ก้าวหน้า คือคนอยากทำมี แต่ไม่อยากขาดทุน ก็เลยไม่ทำ

จิน: ก็เห็นมาหลายที่นะ Live House ทองหล่อ ฮาโมนิก้า ไวท์เฮ้าท์ หลาย ๆ ที่นะครับ ที่มันปิดไปแล้ว เราก็เห็นอยู่ว่ามันบริหารยากมาก

อย่าง Live House ที่ญี่ปุ่นเขาเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้อย่างไร

จิน: แต่ละพื้นที่ก็เยอะ แต่ว่าปิดไปก็เยอะนะครับ ยิ่งช่วงโควิด รัฐบาลญี่ปุ่นเขาก็มีมาตารการที่ว่าต้องปิด แล้วตอนนี้กลับมาเปิดได้ แต่ให้จุได้แค่ครึ่งนึง คนก็กลัวไม่ไป มันก็เป็นช่วงที่วิกฤตมาก ๆ แต่ก่อนหน้านั้นเปิดใหม่ก็เยอะ ปิดไปก็เยอะ ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง เส้นสาย การลงทุน สถานที่ ที่ที่เขาสร้างมันอยู่ใกล้สถานีไหม จุได้กี่คน ข้าง ๆ มีคู่แข่งไหม ที่สำคัญคือผู้จัดใน Live House เขาต้องรู้จักในวงการดนตรี สมมุติว่าเขารู้จักวงนี้ วงนั้น วงดัง ๆ พอสมควร ในวงการอินดี้ของเพลงญี่ปุ่น เขาสามารถให้มาเล่นใน Live House เขา คนก็เข้ามาเยอะ ถ้าผู้จัดการที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ค่อยรู้จักกันในวงการ ไม่สามารถเอาวงดัง ๆ เข้ามาใน Live House เขา ยกตัวอย่าง มันมีตัวอย่างที่ไปได้ดี หรือว่าปิดไปเร็ว

ผมเคยอยู่ในประเทศไทยที่มันไม่มีงานใหญ่เลยนะ จนถึงวันนี้เรามีวงเป็นร้อย ๆ แล้ววง เดี๋ยวนี้มีเทคนิเชี่ยนมาเอง มีซาวด์เอนจิเนียร์มาเอง บางคนมีเมเนเจอร์ส่วนตัว ผมเคยเล่นดนตรีในวันที่ถ้ามึงจะมีขนาดนี้มึงบ้าแล้ว มึงฝันแล้ว (หัวเราะ)

จิน— จิน เซนทาโร่ (กลอง) มือกลองวง FAUSTUS

ส่วนใหญ่คนชอบพูดว่ารัฐไม่ซัพพอร์ตเท่าไหร่ หรือว่าต้องมี Live House ของรัฐหรือเปล่า ญี่ปุ่นมีหรือเปล่าครับ

จิน: ไม่มีครับ อย่างที่โมบอก ในญี่ปุ่นกับในไทยการลงทุนเท่ากัน เนื่องด้วย GDP ที่ญี่ปุ่นมันได้อยู่แล้ว แต่ที่นี่เรากู้เงินจากธนาคารแล้วเปิด ถ้าไปไม่ได้ดี ก็เจ็บตัวขาดทุน เขาก็ไม่มีกำลังใจ มันก็ยากมาก ถ้าในบ้านเราถ้ารัฐเขาช่วยบางส่วน เราก็จะยินดีมาก ๆ 

แวน: ถ้ารัฐช่วยมันก็ดีอยู่แล้วถ้ามีคนช่วย เมื่อกี๊โมพูดเรื่องดีมานด์ ซัพพลาย แต่ผมอาจจะโดนปลูกฝังมาทั้งอ่านประวัติ DIY ของประเทศนั้น ประเทศนี้ คือ อันนี้ผมน่าจะเคยพูดในสัมภาษณ์อื่น ๆ คือวงไทยอ่ะ วงเอย คนฟังเอย คนที่ชอบเอย เราก็ต้องยืนหยัดในสิ่งที่เราทำ ต้องเชื่อในมัน แล้วเราก็ต้องทำมัน เพราะช่วงแรก ๆ เราจะเจ็บตัว แต่อย่างที่เมื่อกี๊ถามผมว่า ดนตรีไทยโตมั้ย ผมนี่เห็นกับตาเลยนะว่ามันโตมาก ๆ ซึ่งมันโตจากสิ่งที่ ณ วันนั้น ถึงวันนี้ก็เหมือนกัน ทุกครั้งที่มันโตขึ้นนิดนึง เราก็จะเจอแต่คนที่บอก โอ้ย อย่าทำเลย แม่งไม่คุ้มหรอก ไม่เห็นจะมีอะไรเลย

จากวันที่เราไม่มีงานระดับแคท ระดับฟังใจ ระดับเห็ดสด ระดับ BMC ผมเคยอยู่ในประเทศไทยที่มันไม่มีงานใหญ่เลยนะ จนถึงวันนี้เรามีวงเป็นร้อย ๆ แล้ววง เดี๋ยวนี้มีเทคนิเชี่ยนมาเอง มีซาวด์เอนจิเนียร์มาเอง บางคนมีเมเนเจอร์ส่วนตัว ผมเคยเล่นดนตรีในวันที่ถ้ามึงจะมีขนาดนี้มึงบ้าแล้ว มึงฝันแล้ว (หัวเราะ) แต่มันก็มีบางคนที่บ้าพอที่จะทำ แล้วเขาก็ค่อย ๆ ดัน ๆๆๆๆๆ จนมันเกิดสิ่งที่เราเห็นอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นผมก็เลยอยากจะบอกกับทุกวันว่า ถ้าอยากจะเห็นไทยโตต่อไป บางทีคุณก็ต้องเชื่อฝันบ้า ๆ บ้าง

ใช่ Live House วันนี้ที่คุณเปิดน่ะมันไม่มีใครมาหรอก วงที่เล่นบางทีคุณก็ได้ตังค์เยอะ บางทีก็ได้ไม่เยอะ บางทีปั๊มซีดีมาหรือสร้างผลงานมาไม่มีใครซื้อ แต่ถ้าทุกคนรักที่จะทำรักที่จะฟัง อยากให้มันมีคุณก็ต้องกล้าที่จะเสียเลือดเสียเนื้อให้มัน คือตอนนี้มันน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนคิดในประเทศเรา ทุกอย่างที่คนไทยต้องการ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องที่ให้รัฐมาช่วย เพราะสุดท้ายถ้ามีใครที่ใหญ่กว่าเรามาช่วยมันก็จะเกิดเงื่อนไขจากเขา ว่าเฮ้ยกูเป็นคนที่สร้างมึงขึ้นมานะ มึงน่ะติดหนี้กูนะเว้ย เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างเราเอง และผมก็เห็นมันมากับตา

ผมกลายเป็นคนพูดจาบ้า ๆ แบบนี้ เพราะว่าผมเห็นคนเดียว (หัวเราะ) ผมเคยดูวงใหญ่ ๆ ที่ใคร ๆ ก็เห็นว่าวงนี้ดัง คนมักจะลืมว่าวงพวกนี้มาจากไหน ทุกคนเห็นแค่วงนี้เล่นเวทีใหญ่ มีคนดูเป็นหมื่น เขาเป็นวงเก่งอยู่แล้ว แต่เขาไม่ได้เก่งเป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่วันแรก เขาไม่ได้เล่นเวทีใหญ่มาตั้งแต่วันแรก แต่เขาเชื่อว่าทำจนกว่าจะเกิด เพราะฉะนั้นถ้าคุณรักในมัน หรืออยากให้มันมีคุณก็ต้องเสียในระดับหนึ่ง อย่าท้อ อย่างผม 2 คนนี่ จินมาประเทศไทย เขายังพูดไทยไม่ได้เลย เขาไม่มีที่อยู่ด้วย แต่เขาฝันอยากเล่นดนตรีในไทย จนเขาวันนี้เป็นจินที่ใคร ๆ ก็รู้จัก

ผมเล่นดนตรีนอกกระแสมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว จนวันนี้ผมคิดว่าเพลงที่กูเล่นแม่งโครตแปลกเลย แต่คนฟังบอกไม่ ๆ เฉย ๆ มันยังมีเพลงประหลาดกว่าพี่อีกเยอะมาก มันก็คือฝันที่เป็นจริงระดับหนึ่ง ดังนั้นก็จะบอกว่าเราก็อย่าไปคิดว่าสิ่งที่มึงทำไม่มีวันเกิดหรอก  มึงทำ ๆ ไปเหอะ ถ้ามึงชอบแล้วทำให้มึงมีความสุข ทำ ๆ ไปเหอะ ยังไงเดี๋ยวมันก็เกิดขึ้น  

10 ปีก่อน ผมไม่เคยเจอนะ ไม่เคยเจออย่าง ihatenifty  ที่อยากจะทำสื่อของตัวเองที่ทำเกี่ยวกับดนตรีนอกกระแส ทำไปทำเหี้ยอะไรวะ (หัวเราะ) ต้องมาเสียเวลาต้องโดนคนไล่ เหงื่อแตก เพื่ออะไร แต่ว่าคุณก็ต้องเชื่ออะไรสักอย่าง แล้วก็ต้องรักอะไรสักอย่าง คุณอาจจะมีตัวอย่างในไทยที่ทำให้เรามีกำลังใจ แต่อย่าลืมว่าวันนึงเขาก็ไม่ได้มีนะ ผมเป็นคนรักศิลปะและดนตรี ผมอยากให้ซัพพอร์ตมัน แต่เราไปบังคับให้ทุกคนชอบมันไม่ได้ แต่เรายังบังคับตัวเองให้ดีที่สุด พอคุณภาพมันได้ เดี๋ยวคนก็เชื่อเอง อย่าลืมว่า LoveIs หรือ Bakery สมัยก่อนเขาก็คืออินดี้นะ สแตมป์ อย่างนี้  มันก็มีวันหนึ่งที่เขาเป็นวงอินดี้ Scrubb อย่างงี้ เขาเคยเรียกตัวเองว่าอินดี้ เคยมีคนเรียกเขาว่าอินดี้ แต่สมัยนี้เขาคือ Scrubb นะเว้ย

มันเคยมีคนเชื่อว่า บอย โกสิยพงษ์ จะขายเพลงไม่ได้ แต่ถ้าทุกวันนี้มีคนไปบอกว่าเพลงบอย โกสิยพงษ์ ฟังทำห่าอะไรวะ มึงจะบ้าหรือเปล่า เขาขายเป็นล้าน ๆ แผ่นแล้ว ส่วนหนึ่งทุกคนก็ต้องบ้าแหละ ถ้าเราไม่บ้าเราจะทำสิ่งนี้ ทำไม  แต่ถ้ามึงบ้าแล้ว มึงก็บ้าให้สุดไปเลย ผมเคยบอกเสียดายหลายวงมากๆ ในไทย ที่เก่ง แต่ไปติดตรงที่ว่าพี่ ผมว่าผมกลัวพ่อแม่ผมจะไม่ยอมรับ ผมต้องทำงาน โอเค ทุกคนต้องเอาตัวรอด แต่มึงมีเวลาเหลือในวันหนึ่ง 2 ชั่วโมง มึงก็เอาไปทำในสิ่งที่มึงรักเถอะ เพราะว่าวันนี้มัน 2 ชม. แต่วันหน้ามันจะเป็น 4 เป็น 6 เป็น 8 แล้วมันก็จะเป็นทั้งชีวิตของมึง มันจะเกิดของมันเอง อันนี้ผมเห็นมา มันยังไม่เกิดขึ้นกับผม แต่ก็ช่างแม่ง 

จิน: เอาง่าย ๆ ถ้าเห็นอะไรที่เราชอบ อย่าฝันอะไรเกินไปถ้าเราเล่นดี เพลงดี เล่นสดดี ออกมาอะไรก็ดี ยังไงก็มีคนชมอยู่แล้วแหละ เยอะหรือน้อยไม่สำคัญ  ถ้ามีคนที่รักอะไรที่เราออกมาเราก็ดีใจแล้ว เราไม่ได้หวังอะไรขนาดนั้น 

แวน: ผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าเราขึ้นเวทีแล้วเรามองไปเห็นคน 10 คน 5คน 100 คนเนี่ย มันก็มีค่าตลอดเวลาเพราะเราไม่รู้ว่า 10 คนนั้น 100 คนนั้น พรุ่งนี้เขาจะกลายเป็นกี่คน ในความเป็นนักดนตรี บางทีเราก็นิสัยเสียตรงที่เวลาเราเห็นคนยืนเฉย ๆ บางทีเราก็หงุดหงิดว่า เฮ้ย กูก็ใส่เต็มนะ แล้วมันกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นน่ะพอหลังเวทีเขาเดินมาบอกว่ามันมากพี่ หรือบางทีเขาเขียนบล็อค อะไรสักอย่างที่เราไม่มีทางรู้หรอก เพราะฉะนั้นทั้งคนฟังเอง คนเล่นเอง เราก็ทำ ๆๆๆๆๆ ไปเถอะ แล้วมันก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้น  ถ้าเราผลักมันสักวันมันก็จะเกิดโมเมนตั้มของมันเอง

แต่ในช่วงแรกเราจะรู้สึกว่ามันไม่ไปหรอก แล้วเราจะรู้สึกว่าหินนี้ไม่มีวันกลิ้งแน่นอน ถึงมันจะไม่เคยกลิ้งเลย ด้วยตัวมันเองก็ตาม แต่ถ้าเราผลักมันทุกวัน มันก็จะไปถึงในที่ที่เราต้องการจะให้มันไปถึง ยังไงมันก็เกิด ถึงมันจะเหนื่อย หรือไม่เหนื่อยมันก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้นก็ช่างมัน เพราะถ้าเราต้องการให้สิ่งนี้ไปถึงตรงนั้น มึงก็เริ่มเดินเถอะ มันไม่มีทางอื่นแล้ว นอกจากเดินอ่ะ 

ตามไปฟังอัลบั้มแรก A Collection of Tonal and Aural Movements Constituting a Creation of Which Persons Can Derive Pleasure and Amusement ของ Faustus ได้ที่ Spotify / Apple Music / Fungjai และติดตามข่าวสาร เป็นกำลังใจให้วง หรือสั่งซื้อแผ่นซีดีได้ที่ เพจของวง

แวน — (เบส)  มือเบส

Faustus คือใคร เล่นดนตรีแนวไหน

Faustus คือวงสามชิ้นที่บรรเลงร็อกออกมาได้อย่างลงตัว ลองไปทำความรู้จักพวกเขาทั้งสาม ก่อนที่ Faustus จะกลายเป็นอีกหนึ่งวงโปรดของเรา

Faustus คือวงสามชิ้นที่บรรเลงร็อกออกมาได้อย่างลงตัว ลองไปทำความรู้จักพวกเขาทั้งสาม ก่อนที่ Faustus จะกลายเป็นอีกหนึ่งวงโปรดของเรา

สมาชิกวง Faustus มีใครบ้าง

แวน — (เบส) โม — ชุติกาญจน์ อิสสระเสรี (กีตาร์) จิน— จิน เซนทาโร่ (กลอง)

 

ชวน Wolf Alice คุยถึงอัลบั้มล่าสุด Blue Weekend พร้อมชม Live Version สุดพิเศษ

SLOWSATELLITE การโคจรมาพบกันของ 4 แร็ปเปอร์หน้าใหม่ ที่สายโอลสคูลจะต้องหลงรัก

คุยกับสุราปลดแอก กลุ่มคนที่ฝันอยากเห็นประชาธิปไตยในวงการแอลกอฮอล์ไทย

About the author

ชอบฟังเพลงใหม่ ๆ ตลอดเวลา และอยากแนะนำเพลงใหม่ ๆ ให้ทุกคนฟังผ่านตัวอักษร ตลอดเวลา